ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“บอมบ์ ไซโคลน” ผลจากโลกร้อน อนาคตจะเจอ “ร้อนสุดโต่ง หนาวสุดโต่ง”

ภัยพิบัติ
8 ม.ค. 61
15:59
18,156
Logo Thai PBS
“บอมบ์ ไซโคลน” ผลจากโลกร้อน อนาคตจะเจอ “ร้อนสุดโต่ง หนาวสุดโต่ง”
นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่าปรากฎการณ์บอมบ์ ไซโคลน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน และนับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ในอนาคตจะได้เห็นอากาศร้อนสุดโต่งและหนาวสุดโต่ง

สภาพอากาศที่หนาวจัดและหนาวมากเป็นประวัติการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นปรากฎการณ์ที่สื่อมวลชนหลายสำนักเรียกว่า บอมบ์ ไซโคลน (Bomb cyclone) เพราะความเหน็บหนาวและหิมะที่ตกอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบทั้งทางบกและทางอากาศอย่างหนักหน่วง

ปรากฎการณ์ “บอมบ์ ไซโคลน” (Bomb cyclone) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูหนาว และคำเรียกนี้นักอุตุนิยมวิทยาใช้เรียกกันมาตั้งแต่ปี 1940 เนื่องจากเป็นคำที่ให้ความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและฉับพลันของพายุไซโคลน โดยชื่อทางการคือ บอมโบเจเนซิส (Bombogenesis)

 

“บอมบ์ ไซโคลน” (Bomb cyclone) คือ extra-tropical cyclone เป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน ที่พัฒนาตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็วผิดปกติ โดยพายุจะมีความกดอากาศที่ใจกลางพายุลดลงอย่างน้อย 24 มิลลิบาร์ ภายในเวลา 24 ชั่วโมง หรือ 1 มิลลิบาร์/1ชั่วโมง พายุเกิดขึ้นเมื่อมวลอากาศลอยสูงขึ้น จากบริเวณที่เป็นความกดอากาศต่ำบนผิวโลก ซึ่งทำให้ดูดอากาศบริเวณโดยรอบเข้าไปเมื่อรวมตัวกันแล้ว พายุจะเริ่มหมุนตัวเร็วขึ้นและเร็วขึ้น เหมือนนักเล่นสเก็ตที่หมุนตัว ส่งผลให้ความเร็วลมเพิ่มขึ้น และความเร็วลมจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่ออยู่ใจกลางพายุ

 

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวคล้ายกับช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมาของประเทศไทย ที่พายุจากประเทศฟิลิปปินส์เคลื่อนผ่านมา แล้วดึงลมหนาวลงมาประเทศไทย ทำให้ในขณะนั้นมีอากาศหนาวเย็น ฝนตก และอุณหภูมิลดลง แต่ไม่รุนแรงเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา

“พายุที่เกิดขึ้นบริเวณภาคตะวันออกของสหรัฐฯ ไปเหนี่ยวนำอากาศจากขั้วโลกเหนือลงมาเลี้ยงตัวพายุ จึงทำให้เกิดลมแรง แต่ปกติในฤดูหนาวจะไม่ค่อยเกิดพายุ พายุส่วนใหญ่จะเกิดในฤดูร้อนเป็นหลัก ถามว่าผิดปกติไหม ไม่ผิดปกติ เพราะเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ไม่บ่อยนัก” นายวันชัย กล่าว

 

เมื่อนำปรากฎการณ์ดังกล่าวไปถามนักวิทยาศาสตร์ว่าสภาพอากาศที่หนาวรุนแรงแบบนี้เกิดจากปัจจัยใด ก็ได้รับคำตอบจาก รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ ผลของโลกร้อน

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน หรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จะทำให้ปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่ควรเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น หรือควรจะเกิดปรากฎการณ์ใดแล้วกลับไม่เกิด หรือเกิดน้อยมากเกิดขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สุดโต่งแบบนี้คือคำอธิบายของผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

“สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จะเป็นอะไรที่สุดโต่ง หนาวสุดโต่ง ร้อนสุดโต่ง ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นไม่ชัดเจน แต่จากนี้เราจะเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยขึ้น สหรัฐฯ เคยประสบปัญหาอากาศหนาวมาแล้ว บางปีหนาวมาก แต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของภาวะโลกร้อน” รศ.สุชนา กล่าว

 

รศ.สุชนา กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนเชื่อและเข้าใจว่าสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งร้อนและหนาว คือผลพวงจากภาวะโลกร้อน แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้ คือสัญญาณที่บอกว่าสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ปกติแล้ว และผลกระทบน่าจะเกินจุดเริ่มต้นไปมากแล้ว

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่นับวันมีแต่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ขณะนี้ขั้วโลกเหนือได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด อุณภูมิเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้น้ำแข็งละลาย กระทบกับประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัยจากปัญหาดินทรุดและดินสไลด์ ขณะที่หมีหลายตัวจมน้ำตาย และไม่สามารถหาอาหารและจำศีลได้

หากถามถึงวิธีแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน รศ.สุชนา กล่าวว่า ปัจจุบันเราลดโลกร้อนไม่ทันแล้ว แต่เราอาจจะชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น ลดการใช้รถยนต์ หยุดโรงงานอุตสาหกรรม แต่วิธีการดังกล่าวไม่สามารถทำได้ทันที ซึ่งต้องมีการหาพลังงานทดแทนให้ได้เสียก่อน ซึ่งทุกอย่างต้องอาศัยเวลาและเงินทุน กว่าจะทำได้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ในอนาคตสิ่งที่ทุกคนต้องทำหลังจากนี้ เมื่อไม่สามารถลดโลกร้อนได้ก็ต้องปรับตัวอยู่กับโลกร้อนให้ได้

 

 จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง