เมื่อวานนี้ (11 ม.ค.2561) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (12 ม.ค.) ปปง.ได้เชิญผู้แทนสถาบันการเงิน 36 แห่ง มาร่วมประชุม เพื่อหารือมาตรการป้องกันการสวมบัตรประชาชนของผู้อื่นไปใช้เปิดบัญชี รับโอนเงินจากผู้เสียหาย ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และสอบถามถึงกรณีดังกล่าว
สำหรับมาตรการการตรวจสอบการแสดงตนของผู้เปิดบัญชีกำหนดให้ทุกสถาบันการเงินต้องตรวจสอบรายละเอียดลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีทั้งชื่อ นามสกุล อาชีพ วันเดือนปีเกิด เลขประจำตัวบัตรประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และอีเมล หากสถาบันการเงินละเลยไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ กฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับบัญชีละ 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จ
ด้านนายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากรณีบัตรหายว่า ต้องรีบทำใหม่โดยเร็วที่สำนักทะเบียนทุกแห่ง โดยแจ้งบัตรหายและออกบัตรใหม่แล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครองจะบันทึกไว้ว่าบัตรใบเก่าถูกยกเลิกเนื่องจากแจ้งหายไว้แล้ว ส่วนกรณีภาคเอกชนและภาครัฐนำข้อมูลจากบัตรประชาชนไปใช้ กรมการปกครอง มีระบบให้แต่ละหน่วยงานตรวจสอบได้ว่าบัตรใบนี้มีสถานภาพเป็นปกติ ถูกแจ้งหาย หรือถูกยกเลิกเนื่องจากสวมตัว ซึ่งภาคเอกชนยังไม่ค่อยได้ใช้กระบวนการนี้
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวถึงการดำเนินการทางคดี กรณี น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ พนักงานบริษัทเอกชนที่ถูกสวมบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีว่า มองว่ากรณีที่ตำรวจบอกว่าปฏิบัติตามขั้นตอน เห็นว่ากรณี น.ส.ณิชา รู้เพียงแต่ว่ามีการกระทำผิด แต่ยังไม่ได้ตัวผู้กระทำว่าเป็นใคร เพียงแต่รู้ชื่อเจ้าของบัญชี โดยกรณีการออกหมายจับครั้งนี้ถือเป็นการทำลายเสรีภาพทางอ้อม เพราะไม่รอบคอบในขั้นตอนการใช้ดุลพินิจ เนื่องจาก น.ส.ณิชา นำเอกสารต่างๆ ไปพบตำรวจ ซึ่งเป็นการแสดงหลักฐานทั้งที่ไม่ควรต้องแสดง
ด้าน พล.ต.ท.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 กล่าวว่า ประเด็นการทำหน้าที่ของตำรวจ เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานแต่ละขั้นตอนของพนักงานสอบสวนว่ามีความบกพร่องในขั้นตอนการทำงานทั้งหมดหรือไม่ และเตือนผู้ที่ทำบัตรประชาชน หรือเอกสารทางราชการสูญหาย ควรแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน แต่หากตำรวจไม่รับแจ้งความก็ร้องเรียนผู้บังคับบัญชาได้ ส่วนความคืบหน้าทางคดี ชุดสืบสวนได้ลงพื้นที่ในหลายธนาคาร สอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเก็บภาพวงจรปิด พยานหลักฐาน ที่เป็นธุรกรรมทางการเงินว่าใครคือผู้ที่ถอนเงิน หรือกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็ม
นอกจากนี้ ออกหมายเรียก นายขวัญ ทองน้อย และนายธีระภัทร์นนท์ งามวงษ์ มาให้ปากคำในฐานะผู้กล่าวหา หลังพบว่าทั้งคู่มีชื่อในการเปิดบัญชี รับเงินจากผู้เสียหาย เช่นเดียวกับ น.ส.ณิชา แต่หากพบพยานหลักฐานที่ยืนยันความบริสุทธิ์ได้ จะสรุปสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องกับผู้ถูกกล่าวหา และเตรียมเรียก น.ส.ณิชา เข้าให้ปากคำอีกครั้ง
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "สื่อศาล" ของกองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เตือนภัยกรณีขบวนการคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นศาลโทรหลอกถามข้อมูลส่วนตัว และหลอกให้โอนเงิน โดยเตือนว่าหมายศาลที่ถูกต้อง จะไม่มีการระบุให้ใครต้องส่งเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลหรือโอนเงินใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น หากประชาชนสงสัยว่าหมายศาลที่ได้รับเป็นของจริงหรือไม่ ขอให้สอบถามศาลยุติธรรมได้ทุกแห่ง และหากได้โอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ขอให้รีบโทรแจ้งไปที่สายด่วน ปปง.หมายเลข 1710 เพื่ออายัดเงินที่โอนไป