ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เม็ดเงินรายได้อุทยาน 2,413 ล้านบาททำอะไรบ้าง?

สิ่งแวดล้อม
18 ม.ค. 61
16:58
1,547
Logo Thai PBS
เม็ดเงินรายได้อุทยาน 2,413 ล้านบาททำอะไรบ้าง?
กรมอุทยาน จัดเก็บรายได้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศปี 2560 กว่า 2,413 ล้านบาท คาดปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน พร้อมเตรียมปรับปรุงระบบท่องเที่ยวใหม่ ยอมรับนักท่องเที่ยวล้นเกาะดัง นัดทบทวนตัวเลขการท่องเที่ยวในอุทยานทะเลรอบใหม่ 6 ก.พ.นี้

วันนี้ (18 ม.ค.2561) นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในปี 2560 กรมอุทยานฯ สามารถจัดเก็บรายได้อุทยานแห่งชาติทั่วประ เทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,413.59 ล้านบาท เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ โดยปี 2560 มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติกว่า 17 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทยประมาณ 12 ล้านคน และต่างชาติประมาณ 5 ล้านคน ทำให้คาดการณ์ปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 8 ล้านคน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศปีนี้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 

อุทยานแห่งชาติที่จัดเก็บเงินรายได้สูงสุด คือ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ 669 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 390 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 307 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า- หมู่เกาะเสม็ด 118 ล้านบาท และอุทยานแห่งชาติเอราวัณ 108 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 72 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติเขาสก 63 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา 59 ล้านบาท และอุทยานแห่งชาติหมู่กาะอ่างทอง 38 ล้านบาท

ภาพรวมการท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยการใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2561 ระหว่างเดือนตุลาคม- พฤศจิกายน 2560 พบว่า มีนักท่องเที่ยว 2.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 ในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 22 

 

ปรับแผนรับมือ นักท่องเที่ยวกระจุกตัว

นายทรงธรรม ยอมรับว่าปัญหานักท่องเที่ยวที่ล้นเกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เกิดขึ้นจริง แต่เป็นแค่บางช่วง และบางเทศกาลเท่านั้น โดยช่วงหนึ่งเดือนอาจเกิดขึ้น 4-5 ครั้งแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจัดรอบเข้าชมการท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเกิดการกระจุกตัวล้นชายหาดท่องเที่ยว ซึ่งหลังเกิดปัญหาได้มีการสั่งให้เก็บข้อมูลทั้งจำนวนเรือ จำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อเตรียมจะนำมาทบทวนขีดการรองรับของแหล่งท่องเทียวทางทะเลกันใหม่ทั้งหมด

ปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวจะถึง 20 ล้านคน ถ้าบริหารจัดการล่วงหน้า เพราะรู้จำนวนนักท่องเที่ยวที่แน่ นอน ก็จะไม่เกิดปัญหาแออัด  ขณะนี้ทางบริษัททัวร์ทางทะเล นำร่องในอ่าวพังงา และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เช่น ขณะนี้อ่าวมาหยาพีคสุด 11.00 -12.00 น.เรารู้ว่าจะไปกี่คน แต่ยังกำหนดช่วงเวลาไม่ได้ ปัจจัยน้ำทะเลขึ้นลงมีส่วน เป็นต้น แต่ทั้งหมดจะต้องมีการกำนดตัวเลขใหม่  ส่วนอุทยานแห่งอื่นยอดนิยม 30 แห่งก็จะต้องมีระบบจองล่วงหน้า คาดว่าภายในกลางปีนี้จะประกาศรายละเอียดที่ชัดเจนของระบบได้ 

นายทรงธรรม กล่าวว่า เบื้องต้นจะเชิญกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย หรือ ททท. สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า นักวิชาการ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากจ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือในวันที่ 6 ก.พ.นี้ที่กรมอุทยาน กทม.

 

เปิดแผนใช้งบรายได้-เพิ่มเงินเดือนพิทักษ์ป่า

ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับเงินรายได้ที่จัดเก็บจะนำไปใช้ในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล ป้องกันไฟป่า ซื้อรถกู้ภัยและรถพยาบาลดูแลนักท่องเที่ยวครั้งแรกจากเงินรายได้อุทยานแล้ว 30 คัน และเตรียมจัดซื้อเพิ่มอีก 20 คัน จัดทำหน่วยบริการนักท่องเที่ยว ทั้งเก็บขยะและปรับปรุงห้องน้ำหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ด้วยการว่าจ้างคนในท้องถิ่นเข้ามาทำงาน 

นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ดูแลทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นขวัญกำลังใจและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจาก 7,500 บาทต่อเดือนเป็น 9,000 บาทต่อเดือน รวม 15,000 นาย หรือเฉลี่ยรายได้วันละ 250 บาท เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ดูแลอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานแห่งชาติอื่นๆที่รายได้ไม่เข้าเป้าในรูปแบบพี่เลี้ยงน้อง ซ่อมแซมบ้านพักรับรองที่ทรุดโทรมกว่า 100 แห่ง  ปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้ทันสมัย และนอกจากนี้เงินรายได้จะถูกส่งกลับคืนสู่ท้องถิ่นร้อยละ 5 

ประเด็นสำคัญคือ ต้องจะวางมาตรการท่องเที่ยวรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น เช่น การจัดเตรียมรถโดยสารรองรับก่อนขึ้นดอย เพื่อลดความแออัดของรถยนต์ส่วนบุคคลในแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ด้วย การเพิ่มห้องน้ำให้เพียงพอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

อบจ.พังงา เสนอควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวล้นเกาะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง