วันนี้ (26 ม.ค.2561) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือสดร. กล่าวว่า วันที่ 31 ม.ค.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2561 หลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้จะมองเห็นปรากฎการณ์นี้ ส่วนไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 น. เป็นต้นไป
สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17.51 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19.51-21.07 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21.07 น.ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22.11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามัวของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23.08 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่าในปี 2561 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือวันที่ 31 ม.ค.นี้และยังตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ส่วนจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.นี้
โดยสดร.ร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด จัดกิจ กรรมสังเกตการณ์จันทรุปราคาเต็มด ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการนักเรียนและชุมชนใกล้เคียงในครั้งนี้