วันนี้ (28 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Arnond Sakworawich" เตรียมลาออกจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการนิด้าโพล ในวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) โดยมีเนื้อหาดังนี้
"ผมลาออกจากตำแหน่ง ผอ นิด้าโพลล์ พรุ่งนี้เช้าครับ เสรีภาพทางวิชาการและการให้เกียรติกัน สำคัญที่สุดสำหรับผม แม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ผมก็มีที่ยืนในสังคมได้เพราะยืนอยู่บนความถูกต้องมาโดยตลอด. ผมสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลีย top boot นะครับ ยิ่งมีหลักฐานทางวิชาการที่รัดกุมเป็นความคิดเห็นของประชาชน หน้าที่ผมในฐานะนักวิชาการยิ่งต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา. ตำแหน่งบริหารใดๆ ในสถาบัน ผมไม่รับเงินค่าตอบแทนอยู่แล้วเพราะถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง ต้องทำด้วยความเสียสละ และยืนอยู่บนความกล้าหาญทางวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม หากไม่สามารถธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในตำแหน่ง ผอ นิด้าโพลล์ ซึ่งต้องทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ผมจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง"
ล่าสุด ไทยพีบีเอส ตรวจสอบไปยัง นายอานนท์ ระบุว่า ยืนยันเหตุผล เพราะไม่อาจละทิ้งเสรีภาพทางวิชาการได้ หลังถูกระงับการเผยแพร่ผลโพลเกี่ยวกับการตรวจสอบนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลรอผลสอบจาก ป.ป.ช.ทั้ง ๆ ที่สถาบันการศึกษาจะต้องทำหน้าที่ชี้นำสังคมบนฐานข้อมูลประชาชน แต่กลับเซ็นเซอร์ตัวเอง
ด้าน รศ.ประดิษฐ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้แจงว่า กรณีระงับการเผยแพร่โพลประเด็นดังกล่าวเพราะการสอบสวนของ ป.ป.ช.ยังไม่ยุติ อาจสร้างกระแสชี้นำสังคมได้ และการทำโพลของนิด้าที่ผ่านมา จะไม่ชี้นำที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ยืนยันที่ผ่านมาให้เสรีภาพทางวิชาการมาตลอด
มีรายงานว่า หัวข้อโพลดังกล่าว คือ "นาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อน แค่บิดเบือนหรือพูดความจริง" ซึ่งพบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 80 ไม่เชื่อว่า เป็นทรัพย์สินที่ยืมจากเพื่อน ส่วนนิด้าโพล 2 ครั้งล่าสุดที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ ได้การสำรวจจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง ครม.สนช.และ สปท.ซึ่งประชาชนร้อยละ 42 เห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ค่อยมีจริยธรรม ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช.ที่เน้นจริยธรรมและการปราบปรามการทุจริต
ส่วนผลสำรวจล่าสุดเป็นเรื่องความเชื่อมั่นต่อการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.04 เห็นว่า มีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช.จากรัฐบาล และ คสช.
การแถลงข่าวของนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.ครั้งล่าสุดที่ระบุว่า หาก พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์นาฬิกาหรูกว่า 20 เรือน ก็ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน กลับยิ่งถูกตั้งคำถามพร้อมนำไปเทียบกับกรณีรถโฟล์กสวาเกน มูลค่า 3 ล้านบาทของภรรยานายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่อ้างว่า มีผู้นำมามอบให้แต่ศาลไม่เชื่อและตัดสินว่า จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ
ขณะที่นายกรัฐมนตรี ก็ถูกตั้งข้อสังเกตถึงบรรทัดฐานในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เมื่อนำไปเทียบกับข้าราชการที่ถูกสั่งพักงาน ระหว่างถูกตรวจสอบกรณีเชื่อมโยงการทุจริต จนนำมาซึ่งกระแสไม่เห็นด้วย จากกลุ่มที่เคยสนับสนุนรัฐบาล คสช.