วันนี้ (30 ม.ค.2561) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อย่างแน่นอน พร้อมสั่งให้ทุกฝ่ายติดตามสถานการณ์และมาตรการความช่วยเหลือทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อไม่ให้การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้กระทบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ส่วนการเข้าหารือของนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่มีข้อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศนั้น ได้รับไว้พิจารณาเพราะถือว่ามีเหตุผล โดยยืนยันว่ามติคณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพในพื้นที่ตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา ส่วนมาตรการลดเงินประกันสังคมและการให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปีนั้น ขณะนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างเข้าที่ประชุม ครม. โดยมุ่งช่วยลดต้นทุนให้เอสเอ็มอี 50,000 ราย ในระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกคาดว่า ช่วยได้ 10,000 ราย ใช้งบประมาณ 500- 1,000 ล้านบาท โดยจะขออนุมัติงบกลางเพื่อดำเนินการ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้แรงงานมีเงินในระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ร้อยละ 0.1-0.2