เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.2561) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการเคลื่อนไหวคัดค้านการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีวิธีการเพื่อเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งภายใต้ปัจจัยต่างๆ ของไทย ส่วนการพบกับประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทางสหรัฐฯ เข้าใจความจำเป็นของไทย และไม่ได้สอบถามเรื่องโรดแมปเลือกตั้ง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเป็นตัวกำหนดการเลือกตั้ง คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ซึ่งเป็นร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แล้ว แต่ กรธ.และ กกต.จะทำความเห็นแย้งส่งถึง สนช.ภายในวันนี้ (9 ก.พ.) ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ยังเชื่อมั่นว่าจะหาข้อยุติได้ในชั้นกรรมาธิการร่วมฯ 3 ฝ่าย
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงสัดส่วนของกรรมาธิการฯ 3 ฝ่าย ซึ่งแบ่งเป็น สนช. 5 คน, กรธ. 5 คน และ กกต. 1 คน หาก กรธ.และ กกต.เห็นตรงกัน จะกลายเป็นเสียงข้างมาก 6 ต่อ 5 โดย สนช.กลายเป็นเสียงข้างน้อย อาจส่งผลต่อการโหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกในชั้น สนช.หรือไม่
ประธาน สนช.ยังเชื่อว่าการคว่ำร่างกฎหมายลูกในชั้น สนช.หลังการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก สนช. และไม่เห็นด้วยหากจะใช้วิธีนี้เป็นเทคนิคเพื่อขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวว่า จะส่งความเห็นแย้งให้ สนช.ในวันนี้ เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย และเมื่อทบทวนแล้วเสร็จต้องส่งให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ ส่วนจะมีปัจจัยแทรกซ้อนส่งผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ และขอไม่ให้คาดเดาปัญหาล่วงหน้า แต่ควรพิจารณาไปตามขั้นตอน