ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรียนภาษาถิ่นผ่านนิทานกะเหรี่ยง

ศิลปะ-บันเทิง
13 มิ.ย. 58
15:28
806
Logo Thai PBS
เรียนภาษาถิ่นผ่านนิทานกะเหรี่ยง

มีคำเปรียบเปรยว่าบทลำนำนิทานพื้นบ้านกะเหรี่ยง มีมากมายเท่ากับใบไม้ที่มีในโลก โดยเรื่องเล่าที่ตกทอดอยู่ในชุมชนกะเหรี่ยงโพล่ง จ.ราชบุรี ถูกนำมาปรับเป็นการแสดงทางวัฒนธรรมและเป็นเครื่องมือรักษาภาษาถิ่น

แม้มีนิสัยเกียจคร้าน แต่เจอปันนิวก็มีเมตตาช่วยชีวิตลูกลิงก่อนจะตกเป็นอาหาร เป็นเนื้อหาจากนิทานเรื่องเจอปันนิว ที่ชาวไทยเชื้อสายโพล่ง บ้านโป่งกระทิงบน อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ประยุกต์เป็นการแสดงทางวัฒนธรรมผสานท่ารำดั้งเดิมเข้ากับบทเพลงในนิทานพื้นบ้าน ให้เยาวชนฝึกหัดอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมใจกลางชุมชน ซึ่งข้อคิดที่ได้จากนิทาน สอนใจให้เลียนแบบข้อดีและละเว้นข้อเสียของเจอปันนิว ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ เช่นเดียวกับนิทานกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ที่แต่งจากวิถีผูกพันกับธรรมชาติ ความเอื้อเฟื้อ รักสงบ
 
นับ 10 ปี หลังจากมีศูนย์วัฒนธรรมชุมชนสะท้อนวิถีกะเหรี่ยงโพล่ง ครูภูมิปัญญากะเหรี่ยงอย่างรวย ชีช่วง และบุญมี พอชู ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้กับเยาวชนมาหลายรุ่น สื่อภาษาด้วยนิทาน บทลำนำ ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมกับกิจกรรมร้องตามจังหวะง่ายๆ การเรียนรู้นิทานที่ร้องเล่าเป็นภาษาถิ่นหรือภาษาโพล่ง ยังเติมความหวังฟื้นฟูภาษาของบรรพบุรุษที่วันนี้การใช้ตัวอักษรลดเลือนไปแล้ว คงเหลือภาษาพูดสื่อสารอยู่ไม่มาก  

กะเหรี่ยงโพล่งเป็น 1 ใน 8 ชาติพันธุ์ของ จ.ราชบุรี ที่มีเอกลักษณ์การแต่งกาย การละเล่น ภาษาถิ่นของตน มีความเป็นมาไม่น้อยกว่า 200 ปี หลังเคลื่อนย้ายจากเมืองทวาย ฝั่งเมียนมามาตั้งถิ่นฐานในไทย มีประเพณีสำคัญเช่น การกินข้าวห่อ เดือน 9 อุทิศแด่ผู้ล่วงลับ โดยที่บ้านโป่งกระทิงบนรวมจัดเป็นงานใหญ่ในศูนย์วัฒนธรรมชุมชนซึ่งเป็นศูนย์กลางเรียนรู้วิถีกะเหรี่ยง

นอกจากสื่อพื้นบ้าน นิทาน เพลงดั้งเดิม จะถูกนำมาปรับใช้ ยังมีสื่อร่วมสมัยเช่นบทเพลงแต่งใหม่เป็นภาษาไทยผสมภาษาถิ่น โดยกลุ่มต้นกล้าตะนาวศรี ซึ่งใช้สอนในโรงเรียนเพื่อให้เยาวชนซึมซับภาษาและวิถีกะเหรี่ยงโพล่งไปพร้อมกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง