วันที่ (12 มี.ค. 2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร พร้อมคณะลงพื้นที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แถลงข่าวจับกุมสินค้าไม้หวงห้ามลักลอบส่งออก บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 6 ตู้ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
โดยนายณัฐวุฒิ สระฏัน ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 1 และเจ้าหน้าที่ศุลกากร ร่วมกับฝ่ายสืบสวนและปราบปรามสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ทำการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยเนื่องจากเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าตู้ฯ สินค้าดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกันกับขบวนการลักลอบส่งออกไม้หวงห้ามที่กรมศุลกากรจับกุมที่ท่าเรือกรุงเทพเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พบไม้หวงห้ามลักลอบส่งออก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นสินค้าของขบวนการลักลอบส่งออกไม้หวงห้าม โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็นสับปะรดในน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง มะม่วงชิ้นในน้ำเชื่อม เมทัลซีส และ แป้งข้าวเจ้า
ขณะที่ขบวนการฯ นี้ จะใช้วิธีการปลอมแปลงเอกสารของผู้ส่งออกรายอื่นๆ ที่เป็นผู้ส่งออกกลุ่มผลไม้กระป๋องหรือสินค้าอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มสินค้านอกเหนือจากกลุ่มเสี่ยงที่มีการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์ หรือเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจค้น ก่อนนำตู้ฯ โหลดขึ้นเรือเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
จากการตรวจสอบ พบว่า ทั้ง 6 ตู้ เป็นไม้แปรรูปและไม้ท่อนบรรจุอยู่ทั้งหมด จึงประสานให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ร่วมตรวจสอบชนิดของไม้ พบเป็น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน และไม้พะยูง จำนวนประมาณ 1,884 แผ่น มูลค่าสินค้ารวมประมาณ 19 ล้านบาท และหากส่งถึงปลายทางจะมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านบาท โดยไม้ที่ทำการตรวจยึดได้ในครั้งนี้จัดเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 จึงเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จ ส่งออกสินค้าโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 และมาตรา 48,73 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
ขณะที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้จับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าต้องห้ามผ่านแดน จำนวน 1 ตู้ ซึ่งทำพิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสำแดงรายละเอียดสินค้าเป็นของใช้ในครัวเรือนใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจพบว่าตู้สินค้าดังกล่าวเป็นตู้สินค้าที่มีแหล่งที่มาเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันกับตู้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทางกรมศุลกากรจับกุมได้เป็นจำนวนมากที่ท่าเรือกรุงเทพก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดตู้สินค้าตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินค้าผ่านแดน และทำการตรวจสอบ พบสินค้าไม่ตรงสำแดง ประเภทรองเท้า ชุดสตรี นาฬิกา ข้อมือ เครื่องสำอาง อะไหล่รถ เป็นต้น ซึ่งมีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำนวนรวมกว่า 130,000 ชิ้น
พร้อมกันนี้ยังตรวจพบ วัตถุลามก อวัยวะเพศชายเทียมทำด้วยยางซิลิโคลน ซึ่งมีความผิดฐาน นำสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร นำสินค้าที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนผ่านราชอาณาจักร และไม่ได้สำแดงรายการสินค้าในใบขนสินค้าผ่านแดน อีกทั้งยังตรวจพบ บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์ประกอบ และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร โดยรวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท ซึ่งของกลางในครั้งนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 240 ล้านบาท