ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลสั่งให้ กสทช.คืนแบงก์การันตี 1,750 ล้านบาทให้ "ไทยทีวี"

เศรษฐกิจ
13 มี.ค. 61
16:39
518
Logo Thai PBS
ศาลสั่งให้ กสทช.คืนแบงก์การันตี 1,750 ล้านบาทให้ "ไทยทีวี"
ศาลปกครองกลางสั่งให้ กสทช.คืนแบงก์การันตี 1,750 ล้านบาทให้ "ไทยทีวี" ส่วนค่าเสียหาย 700 ล้านบาท และประมูลงวดที่ 1-2 กสทช.ไม่ต้องจ่ายคืน


วันนี้ (13 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ระหว่าง บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

​โดยบริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้องว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีคำสั่งตามหนังสือที่ กสทช 4010/5495 ลงวันที่ 12 ก.พ.2559 เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ เลขที่ B1-S20031-0024-57 และ B1-S20031-0017-57 และให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีอ้างว่า บริษัท ไทยทีวี ผู้ฟ้องคดีไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนเลิกการประกอบกิจการ ซึ่งบริษัทเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้แจ้งยกเลิกใบอนุญาตและยุติการดำเนินการตามใบอนุญาตดังกล่าวไปก่อนแล้ว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

 

 

วันนี้ ตัวแทนของฝ่ายไทยทีวี ผู้ฟ้อง มีนางพันธุ์ทิพา กฤตสกุลไชย หรือ "ติ๋ม ทีวีพูล" เจ้าของช่อง"ไทยทีวี" และ "โลก้าทีวี" และนายสุชาติ ชมกุล ฝ่ายกฎหมายบริษัท มาร่วมรับฟัง ส่วนฝ่าย กสทช.มอบหมาย นายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา

​ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือบริษัท ไทยทีวี ยกเลิกประกอบใบอนุญาตชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทมีสิทธิ์ยกเลิกใบอนุญาตได้ และสั่งให้ กสทช.คืนหลักทรัพย์ค้ำประกันงวดที่ 3-6 ประมาณ 1,750 ล้านบาท คืนให้บริษัท ไทยทีวี เนื่องจากเห็นว่า กสทช.ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ มีความล่าช้าในการขยายโครงข่าย และดำเนินการแจกคูปองทีวีดิจิทัลล่าช้าจริง

ส่วนเงินประมูลงวดแรกที่บริษัท จ่ายไปแล้ว 365 ล้านบาท และงวด 2 ประมาณ 300 ล้านบาท รวมเรียกร้องค่าเสียหาย 700 ล้านบาท ศาลให้ประเด็นนี้ตกไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ใช้คลื่นความถี่ไปแล้ว และเป็นการแข่งขันทั่วไปของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่มีอยู่ในตลาดหลายช่อง เป็นการแข่งขันกันเองโดยไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของ กสทช.

หลังทราบผลคำพิพากษา นางพันธุ์ทิพา กล่าวว่า ส่วนตัวพอใจกับคำพิพากษา และเชื่อว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ต้องการขอยกเลิกประกอบกิจการ ส่วนประเด็นเงินประมูลงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ที่ศาลไม่ให้คืนนั้น จะขออุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุดต่อไป

 

นายสมบัติ ลีลาพตะ

นายสมบัติ ลีลาพตะ

นายสมบัติ ลีลาพตะ

 

ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กสทช.กล่าวว่า ยอมรับคำพิพากษา จากนี้ จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ประเด็นการคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งประเด็นนี้ที่บริษัท ไทยทีวี ชนะ ส่วนตัวเห็นว่าศาลอาจมองว่า กสทช.ควรคืนเงินประมูลส่วนที่ยังไม่ได้ประกอบกิจการ แต่ส่วนตัวมองว่าอนาคตอาจทำให้การแบ่งจ่ายงวดเงินประมูล เช่น การประมูลทีวีดิจิทัล หรือประมูลคลื่นโทรคมนาคม ในอนาคต หากมีการแบ่งซอยงวดเงินประมูลให้จ่ายได้หลายงวด อาจทำให้มีความเสี่ยงเหมือนกรณีนี้ที่ศาลไม่ได้มองว่าเป็นเงินประมูลทั้งก้อนเดียวกัน แต่เป็นการมองว่าใช้คลื่นความถี่เท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น ถ้ายังใช้ไม่ถึงช่วงงวดที่ต้องแบ่งจ่ายก็ยังไม่ต้องจ่าย แต่กสทช.มองว่ามันเป็นเงินประมูลมทั้งก้อน ที่ผู้ชนะประมูลต้องจ่ายให้ครบทั้งหมด เพียงแต่ กสทช.แบ่งซอยออกเป็นงวดๆ ให้

นอกจากนี้ เหตุผลที่พิจารณาว่าโครงข่ายไม่ครอบคลุมนั้น ก็ยังมีความน่าสงสัย เนื่องจากบริษัท ไทยทีวี กล่าวอ้างโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ที่มีความล่าช้า มาเป็นประเด็นต่อสู้ในชั้นไต่สวน แต่ข้อเท็จจริง คือบริษัท ไทยทีวี ไม่ได้ใช้โครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการใช้โครงข่ายของไทยพีบีเอส ซึ่งดำเนินการเสร็จได้เร็วกว่าแผนงานที่กำหนด ซึ่งในชั้นของการไต่สวนได้แจ้งให้ผู้พิจารณารับทราบแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ก็ต้องยื่นอุธรณ์ตามที่มีช่องทาง

ด้านนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด อดีตผู้บริหารไทยรัฐทีวี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเรียกค่าเสียหายกับ กสทช.ให้ความเห็นหลังทราบคำพิพากษาว่า เป็นแนวโน้มสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการคืนใบอนุญาต แม้ขณะนี้กำลังเข้าสู่งวดที่ 5 (เดือน พ.ค.นี้) แต่ทั้งหมดยังต้องรอฟังผลของศาลปกครองสูงสุดก่อน และยังต้องรอดูการอุทธรณ์ของ กสทช.ที่จะมีประเด็นใดเป็นข้อต่อสู้เพิ่มเติม

ขณะที่นายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นหลังทราบคำพิพากษาศาลปกครองกลางว่า กรณีนี้จะเป็นแนวทางให้ทั้งผู้ประกอบการ และ กสทช.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น กรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอีกกว่า 10 ช่อง ที่มีคดียื่นฟ้อง กสทช.ในศาลปกครองขณะนี้ รวมถึงประเด็นที่ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ ยื่นเรื่องให้หัวหน้า คสช.มีมาตรการเยียวยาลดค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) และการยกเลิกประกอบกิจการโดยไม่ต้องจ่ายเงินประมูลงวดที่เหลือ แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องรอคอย คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ในส่วนของช่อง MCOT ขณะนี้ ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะขอยกเลิกใบอนุญาตช่องใดหรือไม่ จากที่มีใบอนุญาตช่อง Mcot และ Mcot family

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ PPTV ให้ความเห็นสั้นๆ ว่า เป็นสัญญาณที่ดี แต่จะขอดูรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม
"ฐากร" แฮปปี้ คำพิพากษาเปิดทางเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต http://news.thaipbs.or.th/content/270956

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง