ทุบกาบมะพร้าวใส่ในผ้า เพื่อซับเลือดประจำเดือน หรือ “ขี่ม้า” ฉากในละครบุพเพสันนิาสสะท้อนการจัดการประจำเดือนของหญิงไทยสมัยอยุธยา หญิงไทยขี่ม้า แต่ผู้หญิงตะวันตกในยุคกลางใช้เศษผ้าเพื่อรองรับเลือดประจำเดือนเรียกว่า “on the rag” หรือบางคนไม่ได้ใช้อุปกรณ์ซับใด ๆ นอกจากเสื้อผ้าที่ใส่อยู่
แม้ไม่มีข้อมูลชัดเจน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าหญิงอียิปต์ใช้กระดาษปาปิลุส ซับเลือดประจำเดือน นอกจากนี้ วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น มอส หญ้า ขนสัตว์ และเศษผ้าถูกนำมาใช้เช่นกัน
ขนิษฐา คันธะวิชัย นักวิชาการอิสระ บอกว่า ความเชื่อเรื่องการมีประจำเดือนมีทั่วโลก และเป็นความกลัวที่เป็นสากล โดยเฉพาะในสังคมเก่าที่เทคโนโลยียังไม่ดีนัก อย่างกรณีในประเทศอินเดีย มีข้อห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าในครัวอย่าง โดยเฉพาะห้ามแตะโถผักดองเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผักดองเน่า

ปี 1850 มีการคิดค้นผ้ากันเปื้อนประจำเดือน ทำด้วยยางใส่ระหว่างชุดชั้นในกับชุดชั้นนอก แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม ในสหรัฐอเมริกา มีการใช้ฟองน้ำ เพื่อซับเลือดประจำเดือน และเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิด
แต่หากพูดถึงจุดกำเนิด “ผ้าปิดแผลซับเลือดทหาร” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นที่มาของผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งหลายยี่ห้อ แต่ด้วยราคาแพง มีปัญหาซึมเปื้อน เพราะใช้การผูกเข้ากับเข็มขัด ทำให้ผู้หญิงหลายคนยังคงใช้ผ้าซับเช่นเดิม

ขณะที่วิวัฒนาการของผ้าอนามัยจากอดีตจนปัจจุบันก้าวหน้า และหลากหลายมากขึ้น นักวิชาการอิสระ ระบุว่า ผ้าอนามัยเป็นนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนบทบาททางสังคมและก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพของผู้หญิง
แม้ผู้หญิงปัจจุบันส่วนมากจะสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดการกับประจำเดือน แต่ก็ยังมีผู้หญิงหลายคนเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย ซึ่งผ้าอนามัยไม่ใช่เพียงอุปกรณ์จัดการกับประจำเดือนของผู้หญิง แต่นับเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนบทบาทและสถานภาพของผู้หญิง