วันนี้ (25 มี.ค.2561) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือทช.กล่าวว่า กรณีที่นักท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลและถูกแมงกะพรุนกล่อง ที่จ.ตราด ทางทช.ออกสำรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงในช่วงระหว่างวันที่ 22-23 มี.ค.ที่ผ่านมา พบแมงกะพรุนพิษ ชนิด แมงกะ พรุนกล่องสกุล Chironex บริเวณชายหาดต่าง ๆ ของเกาะหมาก จ.ตราด จำนวนมาก แต่ไม่พบแมงกะพรุนภายในตาข่ายกั้นแมงกะพรุน ที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่เกาะหมากรีสอร์ท และพรหมภักดี รีสอร์ท ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพบเห็นแมงกะพรุนกล่องได้ในช่วงหลายปีก่อน แต่จากปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้จำนวนมากในช่วงนี้เป็นฤดูกาลตามปกติ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเผชิญเหตุดังกล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า ได้กำชับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง นักท่องเที่ยวที่อาจเจอแมงกระพรุนกล่องต้องเพิ่มความระมัดระวังและเข้มงวดในการปฏิบัติงาน ดังนี้ สำหรับนักท่องเที่ยว ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการลงว่ายน้ำในบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม ในการลงว่ายน้ำก็ควรที่จะสังเกตบริเวณที่ว่ายน้ำ ควรสวมชุดที่ป้องกันร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรเลือกเล่นน้ำในหาดที่มีตาข่ายป้องกันแมงกะพรุน และหากสัมผัสถูกแมงกะพรุนกล่องให้รีบขึ้นจากน้ำทะเลโดยด่วนที่สุด พร้อมทั้งหาน้ำส้มสายชูราดลงบริเวณที่ถูกสัมผัสให้มากที่สุด นานไม่ต่ำกว่า 30วินาที ไม่ควรใช้น้ำจืด และห้ามขัดถู
และฝากไปยังผู้ประกอบการ หากตรวจพบแมงกะพรุนกล่อง ควรแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวที่จะลงว่ายน้ำให้เพิ่มความระมัดระวังมากกว่าปกติ และควรอธิบายและให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวในการปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อสัมผัสถูกแมงกะพรุนกล่อง ไม่ควรจับต้อง และควรที่จะหาทางป้องกันไม่ให้แมงกะพรุนลอยเข้ามาสัมผัสถูกกับนักท่องเที่ยวที่ลงว่ายน้ำ เช่น วางตาข่ายกั้นแมงกะพรุน พร้อมทั้งจัดเตรียมน้ำส้มสายชูให้พร้อมใช้อยู่ตลอดเวลา และควรประกาศหรือติดตั้งป้ายเตือนให้เห็นหรือทราบทั่วถึงกัน
แนะขั้นตอนช่วยเหลือถูกวิธีลดเสี่ยงเสียชีวิต
ส่วนวิธีการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง ผู้ช่วยเหลือต้องแน่ใจว่าตัวเองปลอดภัยจากแมงกะพรุน พร้อมนำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ หรือ ไปยังบริเวณที่ปลอดภัยให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่ง ๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน ชะล้างบริเวณที่ถูกพิษด้วยน้ำส้มสายชู นานอย่างน้อย 30 วินาที หากไม่มีให้ใช้น้ำทะเล แต่ห้ามใช้น้ำจืด และควรสวมถุงมือหนา หรือแหนบคีบหนวดที่ยังติดอยู่ ห้ามใช้มือหยิบเด็ดขาด ควรสังเกตุอาการตลอดเวลา หากหมดสติ ไม่หายใจ หรือไม่มีชีพจร ให้ทำการปั๊มหัวใจ (CPR) ทันที และรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ที่ผ่านมา ทช. ได้มีศึกษาและประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนกล่องทั้งด้านชีววิทยาและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นตลอดจนการรักษา ในทุกสื่อที่มีอยู่ โดยทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้แก่ ชุมชน ผู้ประกอบการ สาธารณสุข สถานพยาบาล ผู้นำชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนการนำร่องในการติดตั้งตาข่ายกั้นแมงกะพรุน ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปฏิบัติตนและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง
ข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่ปี 2542 ถึงเดือนธ.ค.2558 มีผู้เสียชีวิตรวม 8 คน โดยในปี 2558 มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ามาในระบบ 194 คนจาก 6 จังหวัดในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 คน จังหวัดทีมีรายงานมากสุดคือเพชรบุรี 143 คน สุราษฎร์ธานี 27 คนเสียชีวิต 2 คน ตราดและสตูล จังหวัดละ 8 คน ปัตตานี 6 คน และกระบี่ 2 คน ซึ่งภาพรวมถือว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น