นิด้าโพลเผยประชาชนค้านแก้รัฐธรรมนูญให้คนถูกตัดสิทธิการเมืองเป็น สนช.-รมต.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดผลสำรวจความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเมื่อถามถึงความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อการเสนอแก้ไขเปิดช่องให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐมนตรีได้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.44 ไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นการกระทำผิดทางการเมือง ซึ่งในสายตาของประชาชนมองว่า เป็นแบบอย่างที่ไม่ได้ จึงไม่ควรให้โอกาสเข้ามาบริหารประเทศได้อีก หากนำเข้ามาทำงานอาจจะกระทำผิดซ้ำ
ขณะที่ประชาชนอีกร้อยละ 44.04 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียวกัน บางครั้งคนเราผิดพลาดได้ ควรให้โอกาสกลับเข้ามาทำงานและแสดงความสามารถ
ส่วนข้อเสนอแก้ไขเปิดช่องให้มีการทำประชามติในประเด็นอื่นด้วย โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)สภาละ 1คำถามนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.38 เห็นด้วย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างโปร่งใส มีหลากหลายมุมมอง รองลงมาร้อยละ 13.91 ไม่เห็นด้วย เพราะที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว หากยิ่งมากประเด็น จะไม่สามารถหาข้อยุติได้ ขณะที่ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นคำถามด้วย
ส่วนข้อเสนอให้ยุบ สปช.หลังการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน 200 คน ขึ้นมาแทนนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.44 เห็นด้วยเพราะการปฏิรูปต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนให้สามารถเดินไปข้างหน้า อีกทั้งการปฏิรูปต้องใช้ระยะเวลา หากมีจำนวนสมาชิกจำนวนมากก็จะสามารถบริหารงานได้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน รองลงมา ร้อยละ 28.94 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการเสียเวลา สปช.แบบเดิมสามารถทำงานได้ดีอยู่แล้ว
ผลสำรวจครั้งนี้ทำขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง