วันนี้ (13 พ.ค. 2561) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้หลายสถานศึกษากำลังเข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ประกอบกับช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนือง โรคที่มักเกิดกับเด็กในช่วงเปิดเทอม คือ โรคมือ เท้า ปาก โดยมักเกิดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ระมัดระวังโรคที่เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ
ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 6 พ.ค.นี้พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก แล้ว 11,326 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบมากที่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวน 9,678 ราย คิดเป็นร้อยละกว่า 85 นอกจากนี้ยังพบว่าช่วงที่พบผู้ป่วยมากที่สุดของปีที่แล้ว คือ ช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (เดือน พ.ค.-ส.ค.) เพียง 4 เดือนมีผู้ป่วยมากถึง 38,304 ราย คิดเป็นร้อยละ 54 ของผู้ป่วยทั้งหมด
โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง เชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน จึงพบได้มากในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ใน 7-10 วัน ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ
การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝนนี้ หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย ไม่พาเด็กไปในที่ชุมชนแออัดเช่นห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น รวมถึงให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค