วันนี้ (26 พ.ค.2561) ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ภาพความสวยงามของหินหลากสีสัน ของหาดห้าสี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ความสวยงามที่ธรรมชาติบรรจงสร้างอย่างน่าอัศจรรย์
หาดห้าสี อยู่ใกล้ด่านตรวจเขาโต๊ะหงาย พื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล เป็นหาดทรายเล็กๆ ที่มีหินก้อนกลมมนอยู่ปะปนกันบนชายหาด ในช่วงที่น้ำลงหินสีเหล่านี้จึงจะโผล่ขึ้นมาจนเกือบเต็มทั้งชายหาด
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
หินที่มีสีสันเหล่านี้ประกอบด้วย
-สีแดงเป็นหินทรายในช่วงยุคแคมเบรียน(อายุ 500 ล้านปี) สีแดงหรือชมพูมาจากธาตุเหล็กที่มีมากหรือน้อย
- สีเทาหรือสีฟ้ามาจากหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อาย 470 ล้านปี)ถ้าสีเทาเข้มจนเกือบดำ เกิดจากการมีแร่มลทินมาก ถ้าเทาอ่อนหรือเกือบฟ้า เป็นองค์ประกอบหินที่บริสุทธิ์ มีแร่มลทินปนอยู่น้อย
-สีเหลืองหรือน้ำตาล เป็นหินทรายผุ
-สีขาว คือแร่ควอตซ์ ที่มักพบเห็นตามหาดหินทั่วไป
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
หินเหล่านี้เกิดจากการผุพังแล้วถูกคลื่นซัดพัดพาขัดสีกันในเวลานานจนมีลักษณะกลมมน เมื่อมาอยู่รวมในสถานที่เดียวกัน จึงเกิดเป็นความมหัศจรรย์เกิดขึ้น ช่วงเวลาเย็นและน้ำลง จะเป็นช่วงที่หาดห้าสีสวยงามที่สุด
และจุดท่องเที่ยวนี้อยู่บริเวณ "เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย" ซึ่งขณะนี้ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนครอบคลุมพื้นที่เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย ดังนั้นมีคำแนะนำว่า ใครได้ไปชมความสวยงามของธรรมชาติแห่งนี้แล้ว ขอความร่วมมืออย่านำหินติดตัวกลับออกไปด้วย เพื่ออนุรักษ์และให้ธรรมชาติยังคงความน่าอัศจรรย์และความสวยงามต่อไป
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช