วันนี้ (18 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบ จำนวนผู้ว่างงานกว่า 400,000 คน เป็นผู้เรียนจบปริญญาตรีถึง 170,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เรียนในสายสังคมศาสตร์ ส่วนสาเหตุการว่างงาน เช่น เปลี่ยนงานบ่อย, เลือกงาน, เรียนสาขาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ขณะที่กระทรวงแรงงานวางแนวทางการแก้ปัญหาไว้ 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนภายใน 3 เดือน ตั้งเป้ามีงานทำ 100,000 คน เช่น แนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระ จำนวน 2,000 อัตรา พร้อมเปิดศูนย์ฯ 11 แห่งในต่างจังหวัดเพื่อให้คำปรึกษาจับคู่ตำแหน่งงาน ระหว่างผู้กำลังหางานทำกับนายจ้าง ผ่านกรมการจัดหางาน 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี 4,500 อัตรา สมัครผ่านเครือข่าย 28,000 อัตรา โดยให้ลงทะเบียนยืนยันภายใน 1 เดือน
ส่วนมาตรการระยะยาว ภายใน 1-2 ปี กระทรวงแรงงานจะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการแนะแนวอาชีพให้แก่นักเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งปรับหลักสูตรสร้างทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ
ทั้งนี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ ระบุว่า การฝึกงานในสถานประกอบการจะช่วยเพิ่มโอกาสให้นักศึกษามีงานทำ แต่สถาบันอุดมศึกษาต้องออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษามีทักษะเฉพาะด้าน เช่น ภาษาอังกฤษหรือคอมพิวเตอร์