วันนี้ (28 มิ.ย.2561) ความคืบหน้าในการเดินหน้าหาทางนำทีมเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง หลังจากติดถ้ำนานถึง 6 วัน โดยนายสุวิทย์ โควสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าววว่า จากการประชุมร่วมกับมาตลอด 2 วันในการจัดเตรียมข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่ของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเข้าช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย พร้อมกับเสนอแนวทางความเป็นไปได้ในการเจาะปล่องถ้ำ ซึ่งลักษณะทางธรณีวิทยาเขาหินปูนมีศักยภาพในการเจาะได้
ขณะนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนใน 3 ตำแหน่งที่เสนอให้ขุดเจาะถ้ำหลวง คือ บริเวณปากถ้ำหลวง พื้นที่ ก. โดยเจาะภายในถ้ำ เป้าหมายเพื่อขยายโพรง และลดระดับน้ำ และแซะเพดานถ้ำ
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
ส่วนที่ 2 กลางถ้ำพื้นที่ ข. ซึ่งจะเป็นโพรงปล่องพื้นที่ถ้ำเหนือจุดพัทยาบีช โดยจะเจาะภายนอกถ้ำเพื่อหาโพรงทางเข้าใหม่ ช่วงบริเวณปากทางเข้าถึงกลางถ้ำ โดยเจาะแนวดิ่งเพื่อขยายปล่องที่สำรวจพบแล้ว ทั้งนี้เป้าหมายคือให้สามารถนำกล้องทีวี borehole เพื่อดูภาพด้านในถ้ำ หรืออาจจะใช้เป็นที่ส่งอาหาร เติมอากาศในถ้ำ โดยจุดนี้น่าจะสอดคล้องกับที่มาร์ติน นักสำรวจชาวอังกฤษบอกไว้ว่าปากปล่องจะเชื่อมยังโถงด้านล่างใกล้กับจุดพัทยาบีชได้
ส่วนบริเวณปลายถ้ำ พื้นที่ ค. อยู่ทางตอนใต้ของปลายของถ้ำหลวง เป็นอีกพื้นที่ที่จะเจาะ จากการสำรวจภาคพื้นของทีมเดินเท้าร่วมกับชาวบ้านพบเป็นปากปล่อง มีลักษณะของน้ำมุด หายไปในถ้ำ ชาวบ้านเจอมานานแล้ว ติดกับแนวลำห้วยท้ายถ้ำปากหินไฟ
โดยแผนที่ตำแหน่งทั้ง 3 จุดขณะนี้ส่งต่อให้กับทีมนักธรณี และภาคเอกชนที่จะนำอุปกรณ์มาใช้ในการขุดเจาะในพื้นที่ แต่ยังต้องกำหนดการเจาะอย่างไร วิธีการไหน ขนาดพื้นที่แต่ละจุดต้องให้ทางนักธรณีฟิสิกสิเอกซเรย์ว่าความหนาของแต่ละจุดและดูสภาพพื้นที่อีกครั้ง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
"เจาะเพดานถ้ำ" เปิดความกว้าง 100 เมตร ทะลุโถงพัทยาบีช
กรมทรัพยากรธรณี วิเคราะห์ความหนาถ้ำหลวง "เจาะผนังถ้ำ”
ผู้เชี่ยวชาญรวบรวมข้อมูลใน-นอกถ้ำ เพื่อความแม่นยำก่อนเจาะถ้ำ