ภายหลังการเข้าพบนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ต้องการให้กระทรวงฯ ทบทวนเรื่องการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ : TFF) ของการทางพิเศษฯ โดยมีข้อกังวล 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่เรื่องการแบกรับภาระเงินกู้จากการระดมทุนที่มีถึง 45,000 ล้านบาท
นอกจากนี้การปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษที่ในหลักเกณฑ์กองทุนระบุไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าผ่านทางเมื่อดัชนีผู้บริโภคมีส่วนเพิ่มเพียง 2.5 บาท ก็สามารถปรับเต็มจำนวน 5 บาท ไม่มีเพดานการปรับราคาและรอบระยะเวลาการปรับที่แน่ชัด ซึ่งจะเป็นภาระแก่ผู้บริโภค หากเทียบกับหลักเกณฑ์การปรับเดิมที่ระบุจะปรับค่าผ่านทางเป็นวงรอบทุก 5 ปี
ขณะเดียวกันข้อกฎหมายของการทางฯ กำหนดไว้ว่า จะต้องจัดเก็บรายได้และส่งเงินให้แก่รัฐบาล ซึ่งตามเงื่อนไขของกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ กำหนดหักส่วนแบ่งจากรายได้ของการจัดเก็บค่าผ่านทางต้องส่งเข้ามายังกองทุนส่วนหนึ่ง สหภาพฯ กังวลว่าจะขัดต่อข้อกฎหมาย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนข้อกฎหมายนี้ และดำเนินการปรับแก้ก่อนการเร่งรัดกองทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่า สหภาพฯ ไม่ได้ออกมาเพื่อคัดค้านโครงการ แต่ออกมาเพื่อให้ทบทวนความถูกต้อง ความเหมาะสม โดยเฉพาะช่องทางของการหารายได้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจากการวิเคราะห์พบว่า การนำโครงการเข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 8 การทางฯ จะได้วงเงินสูงถึง 45,000 ล้านบาท แต่เงินก้อนแรกตามแผนที่จะนำมาพัฒนาโครงการ พบว่าใช้เพียง 3,000 ล้านบาท ทำให้เงินจากกองทุนส่วนที่เหลือจะกลายเป็นภาระอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังต้องการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาการสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 1(เฉลิมมหานคร) และขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด มหาชน (BEM) ผู้รับสัมปทาน 30 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 ก.พ.63 โดยเห็นว่าหากนำกลับมาบริหารเองจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่า เพราะจะสามารถพิจารณายกเลิกด่านเก็บค่าผ่านทางในบางช่วง หรือรวมอัตราค่าผ่านทางให้เป็นราคาเดียว ขณะที่การหารือร่วมกันรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนบันทึกภาพและสัมภาษณ์