วันนี้ (17 ส.ค.2561) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายวิษณุ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตัวแทนจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร แถลงกรณีศาลแพ่งอุทธรณ์ จ.กระบี่ มีคำพิพากษาให้กรมอุทยานฯชนะคดีฟ้องร้องที่ดินจำนวน 71 ไร่บนเกาะปอดะ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่
ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอ เข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งจากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมอุทยานฯ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ทำให้คดีระหว่างกรมอุทยานฯ พลิกกลับมาชนะเอกชนในชั้นศาลอุทธรณ์ได้
วิธีการคือทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎ 2 อย่างคือ การวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น และนำคำเห็นแย้งในคำพิพากษาชั้นต้นมาพิสูจน์หาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่อยู่ในคำพิพากษา เช่น ภาพภ่ายทางอากาศ พ.ศ.2510 ที่นำมาแปลภาพถ่ายทางอากาศ และชัดเจนว่าไม่เคยปรากฎร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่เกาะปอดะและการนำผู้เชี่ยวชาญมะพร้าว จากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ปืนต้นมะพร้าว เพื่อนับวงปีมะพร้าว
ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า การพิสูจน์อายุมะพร้าว เพราะในศาลชั้นต้นมีข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างรัฐ ที่บอกว่าอายุต้นมะพร้าวปลูกหลังปี 2510 แต่เอกชนอ้างว่าปลูกก่อน จึงต้องพิสูจน์โดยทีมวิจัยพืชสวนชุมพร เข้ามาตรวจอายุต้นมะพร้าว กระทั่งพบชัดเจนว่าปลูกหลังปี 2510 ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ภูมิประเทศที่ยังมีสภาพเป็นป่าชัดเจน
ส่วนกรณีอ้างหลักฐาน ส.ค.1 ครอบครองบนเกาะปอดะ ซึ่งเอกชนนำส.ค.1 เลขที่ 2 มาอ้างครอบครองทำประโยชน์ก่อนปี 2510 ถ้าตรงแปลงในช่วงพ.ศ.2497 จะต้องมีร่องรอยการทำประโยชน์เช่นกัน แต่การอ่านแปลภาพถ่าย ขัดแย้งกับตัวหลักฐานที่นำมาอ้าง ทำให้สรุปว่าหลักฐานส.ค.1 ไม่ได้อยู่บนเกาะปอดะ แต่บินมาจากพื้นราบ และเป็นที่มาในการทวงคืนที่ดินได้สำเร็จในศาลแพ่งอุทธรณ์
ด้านน.ส.สุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ ตัวแทนศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ใช้หลักสากลในการนับอายุมะพร้าว บนเกาะปอดะ เป็นหลักฐานในคดีครั้งแรก ทำให้รู้ว่าต้นมะพร้าวที่เกาะนี้มีอายุมากสุด 45 ปี หรือมีอายุในช่วงปี 2515 โดยใช้การสุ่มตรวจจำนวน 12 ต้น
ช่วงโคนต้นมะพร้าวจะมีการเจริญเติบโตจะมีรอยแผลของกาบใบจะค่อนข้างถี่ ในช่วงแรก 4-5 ปี จากนั้นและเราจะวัดช่วงรอบต่อไป นับตามรอยแผลของมะพร้าวรอบโคนต้น ถ้ารอยแผลตรงกันจะนับเป็นจำนวน 1 ปี และในช่วงของใบจะนับส่วนยอดของทางใบ
9 เดือนที่รอคอยจนพลิกชนะคดีชั้นอุทธรณ์
ขณะที่นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ยอมรับว่า รู้สึกโล่งใจ เพราะคดีนี้เป็นมหากาพย์ ในการต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2561 ซึ่งหากใครไปจะพบว่าเกาะปอดะมีความสวยงาม และเป็นทรัพยากรที่ต้องเก็บไว้เป็นสมบัติชาติ ซึ่งทางกรมอุทยานฯ หยื่นเรื่องเพื่ออุทธรณ์คดีรวมระยะเวลา 9 เดือน 25 พ.ย.2560
ยอมรับว่าผมนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนก่อนที่จะมาฟังคำพิพากษาเมื่อวานนี้(16 ส.ค.) ในช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงที่ยืนต่อหน้าศาล ยอมรับว่ามือเย็นกังวลมากว่าผลจะออกมาอย่างไร กระทั่งศาลอ่านพิพาษาเสร้จว่าเราชนะ และโล่งใจมาก
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
นายธัญญา ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกที่กรมอุทยานฯ ได้แก้ต่างในชั้นอุทธรณ์จนพลิกชนะคดี และมาจากความร่วมมือกันแบบบูรณาการกับหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมมือในคดีเกาะปอดะ ซึ่งแนวทางกรารต่อสู้คดียอมรับว่ายากการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานให้ศาลรับฟังถือว่ามีความท้าทายมาก และจะใช้เป็นบันทัดฐานในการเดินหน้าคดีการฟ้องร้องที่ดินในเขตอุทยานฯแห่งอื่นๆ เช่น อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต
ขณะนี้เกาะปอดะ ยังอยู่ในการดูแลของกรมอุทยานฯ และถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษารอบนี้แล้วเชื่อว่าหากเอกชนจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อภายใน 30 วันก็จะมีโอกาสต่อสู้น้อย เพราะเรามีทั้งพยานบุคคลที่ชี้เรื่องส.ค.1 ที่นำมากล่าวอ้างบินมาจากที่อื่น ร่องรอยจากภาพถ่ายทางอากาศ และอายุของต้นมะพร้าวที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาต่อสู้คดี ซึ่งเข้าใจว่าเอกชนอยากได้ที่ดินเกาะปอดะ เพราะมีความสวยงามมูลค่าสูงนับพันล้านบาท
อ่านข่าวเพิ่มเติม
33 ปีเบื้องหลังทวงคืน "เกาะปอดะ" จ.กระบี่
กรมอุทยานฯ พลิกชนะคดีแพ่งอุทธรณ์ทวงคืน “เกาะปอดะ” กระบี่