วันนี้(29 ส.ค.2561) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี นำเรื่องให้กระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นผู้บริหารแผนบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน โดยจำเลยไม่ได้มาศาล จึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง
ทั้งนี้ ศาลฯมีคำพิพากษาด้วยมติเสียงข้างมาก เห็นว่าการที่นายทักษิณ ไม่ทักท้วงกรณีกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัททีพีไอ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่นในการเสนอชื่อคณะกรรมการบริหารแผน 5 คนใหม่
นอกจากนี้ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเข้าบริหารแผนพื้นฟูของกระทรวงการคลังในกิจการทีพีไอ เกิดจากความยินยอมของธนาคาร ลูกหนี้ สหภาพแรงงาน รวมทั้งเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง โดยกระทรวงการคลัง ถือเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ตามทางไต่สวน ยังฟังไม่ได้ว่าเมื่อกระทรวงการคลัง เข้าบริหารแผน และจ่ายค่าตอบแทนให้กับคณะผู้บริหาร ที่โจทก์อ้างว่าเป็นพรรคพวกของจำเลย รวมทั้งการซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนของกิจการทีพีไอกำหนดให้ซื้อเพียงหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เช่น ปตท. ธนาคารออมสิน และกองทุน กบข.ไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์เหล่านั้น ซึ่งเงินค่าตอบแทนเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการก็ปรากฎว่าเป็นคดีที่ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้คืนเงินค่าตอบแทนจากการเข้าบริหารแผนฟื้นฟู 224 ล้านบาท
ข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องยังไกลเกินกว่าเหตุ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตฯ จึงพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ ถือเป็นคดีแรกของนายทักษิณ ที่ศาลสั่งยกฟ้อง ในหลายคดีที่อยู่ในชั้นศาล
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง "ทักษิณ" คดีฟื้นฟูทีพีไอ