แนวทางการรับมือน้ำหลากจากพื้นที่ภาคเหนือ กรมชลประทานวางแผนตัดยอดน้ำหลากจากภาคเหนือที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างด้วยการผันน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 13 ทุ่ง โดยจะเริ่มที่ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนเป็นพื้นที่แรก ตั้งแต่วันนี้ ( 19 ก.ย.61) เป็นต้นไป
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำอีก 12 ทุ่ง ก็จะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากต่อไป เมื่อเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จหมดแล้วภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งการผันน้ำเข้าทุ่งทั้ง 13 ทุ่งนี้ ก็จะทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงต่อเนื่องและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่ม ที่ประสบกับปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่อยู่อาศัยเป็นประจำ
ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 13 จังหวัด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2561 ที่เลื่อนเวลาเพาะปลูกข้าวนาปี 13 ทุ่งให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันการเพาะปลูกพื้นที่ 1,496,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1,442,000 ไร่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเตรียมใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำชั่วคราว ที่ตัดยอดน้ำหลากมาจากภาคเหนือ
จากการติดตามสถานการณ์พายุมังคุด พบเคลื่อนผ่านจีนตอนใต้ และอ่อนกำลังลงเป็นความกดอากาศต่ำที่มณฑลยูนนานตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 20 ก.ย.ที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังได้รับผลกระทบมีฝนมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มกำลังแรงให้พื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักนั้น
ดังนั้น กรมชลประทานจึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดยอดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงพื้นที่ตอนล่าง และเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่ โดยใช้ระบบชลประทานรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ทั้ง 13 ทุ่ง โดยจะเริ่มที่แก้มลิงทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนเป็นทุ่งแรก เพราะเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.เป็นต้นไป มีพื้นที่รับน้ำรวม 380,000 ไร่ สามารถเก็บหน่วงน้ำได้ประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำอีก 12 ทุ่งคือ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ใรพื้นที่รวม 1,150,000 ไร่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวไปแล้วประมาณ 1,060,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่เป้าหมาย คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนปรับให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากต่อไป
กรมชลประทานกำหนดแผนให้วันที่ 20 ก.ย.เป็นวันเริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่างๆ ก่อน 9 ทุ่ง ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งโพธิ์พระยา ให้รับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.เป็นต้นไป ทั้งนี้พื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวมทั้งหมดกว่า 2,000 พันล้าน ลบ.ม. โดยกรมชลประทาน จะระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรทำการเกษตรในรอบต่อไปได้ทันตามฤดูกาล
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ที่มักประสบกับปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่อยู่อาศัยเป็นประจำ ซึ่งการนำน้ำเข้าไปในแต่ละทุ่ง ต้องควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพราะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใกล้ชิด