ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ชีวิตแลกเงิน” วิกฤตอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ

สิ่งแวดล้อม
3 ต.ค. 61
10:07
1,697
Logo Thai PBS
“ชีวิตแลกเงิน” วิกฤตอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
ตลาดการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติเติบโตสูงเป็นอันดับ 4 ในการจัดอันดับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีเส้นทางการค้าถึง 67 ประเทศทั่วโลก ช้าง แรด ลิ่น และเสือถูกล่าและค้าจนเสี่ยงสูญพันธุ์
ใน 1 ปี มีช้างกว่า 33,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อเอางาในทวีปแอฟริกา ลิ่นและชิ้นส่วนกว่า 20,000 กิโลกรัมถูกส่งออกในทุกๆ ปี ขณะที่ทุกๆ 7 ชั่วโมง แรดตัวหนึ่งจะต้องจบชีวิตลงเพียงเพราะมนุษย์ต้องการนอ

ปัญหาการค้าสัตว์ป่า ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะในช่วง 5-10 ปี มานี้ “จีน” ประเทศมหาอำนาจเริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอย่างช้าง แรด ลิ่นและเสือ เพื่ออุปโภคและบริโภคจึงยิ่งสูงขึ้น ส่งผลให้วิกฤตล่าสัตว์ป่าครั้งใหญ่ในแอฟริกากลับมาอีกครั้ง


เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษามูลนิธิโลกสีเขียว ระบุว่า ด้วยความต้องการอันมหาศาล ส่งผลให้การล่าสัตว์ป่าเพื่อการค้ามีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เม็ดเงินจำนวนมาก ที่ลงทุนน้อยแต่กำไรงามทำให้พ่อค้าคนกลางอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในประเทศต้นทางอย่างแอฟริกาที่อนุญาตให้ล่าสัตว์ได้อย่างถูกกฎหมายกลายเป็นแหล่งสินค้าชั้นดี โดยขบวนการค้าสัตว์ป่าอาศัยพรานในพื้นที่เป็นกำลังหลักในการล่าสัตว์พร้อมสนับสนุนการติดอาวุธเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน

คนกลางก็ลงทุนหาพรานในท้องถิ่น ล่าสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์ โดยติดอาวุธให้พรานออกล่าครั้งละ 50 คน หรือแม้กระทั่งการใช้เฮลิคอปเตอร์ออกล่า ฆ่าสัตว์ครั้งละ 70-80 ตัว ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ผลตอบแทนมันคุ้มค่า ทำให้สัตว์ป่ากลายเป็นตัวทำเม็ดเงินในตลาดมืดที่ดี


ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถามแหล่งข่าวสายอาชญากรรมเกี่ยวกับมูลค่ายาบ้าในตลาดพบว่าปัจจุบัน ยาบ้า 250 เม็ด มีมูลค่าเท่ากับ งาช้าง 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 25,000 บาท ซึ่งงาช้างที่พบในปัจจุบันมีน้ำหนักตั้งแต่ 5-20 กิโลกรัม หรือมีมูลค่า 50,000-500,000 บาท มูลค่านี้ยังไม่นับรวมอายุ ความเก่าแก่ ที่มา สีและความงดงาม ซึ่งอาจเพิ่มมูลค่ามากกว่า 10 เท่า

คนในวงการ เส้นทาง วิธีการในการค้าสัตว์ป่าคล้ายคลึงกับการค้ายาเสพติดทุกอย่าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มคนค้ายาเสพติดจะเป็นผู้ที่ผันตัวหรือค้าร่วมกับสัตว์ป่า   

ตลาดการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติเติบโตสูงเป็นอันดับ 4 ในการจัดอันดับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีเส้นทางการค้าถึง 67 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศต้นทาง ประเทศส่งผ่าน และประเทศปลายทาง แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศทางผ่านก็ยังพบผู้ซื้อสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอยู่ โดยเฉพาะการซื้อผ่านสื่อออนไลน์

 

ค้าสัตว์ป่าออนไลน์ ขายง่าย-จับกุมยาก

ความสะดวกสบายและการเข้าถึงข้อมูลการซื้อ-ขายสัตว์ป่าออนไลน์ที่ง่ายเพียงแค่ค้นหาผ่านกูเกิ้ล หรือผ่านอินสตาแกรมโดยใช้ #งาช้าง #นาก กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่ เมื่อผู้ค้าเริ่มมีการระมัดระวังตัวมากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายโดยการตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กลับ และกลุ่มไลน์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงได้

TRAFFIC ได้ทำการสำรวจการซื้อ-ขายสัตว์ป่าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2559 โดยใช้เวลา 12 วัน วันละ 30 นาที พบว่า มีกลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับค้าสัตว์ป่าออนไลน์ 12 กลุ่ม มีการโพสต์ภายในกลุ่ม 756 โพสต์ โดยมีการขายสัตว์ที่มีชีวิตจำนวน 1,521 ตัว 200 ชนิดพันธุ์ โดยต่อมาในปี 2561 พบว่าทั้ง 12 กลุ่มนั้นลดลงเหลือเพียง 10 กลุ่ม แต่มีการโพสต์ข้อความประกาศขายสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันสามารถ ตรวจยึดสัตว์ป่าได้ 3,012 ตัว ตรวจยึดซากสัตว์ป่า 10,352 ซาก และตรวจยึดซากสัตว์ป่า 19,379.59 กิโลกรัม

รัฐ-เอกชน-NGO-ปชช. ร่วมหยุดอาชญากรรมข้ามชาติ

ทั้งนี้ ที่ปรึกษามูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวย้ำว่า ขณะนี้วงการอนุรักษ์ทั่วโลกเริ่มตื่นตัว และมีการร่วมมือกันในหลายประเทศ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ถูกยกระดับเนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อาชญากรรมข้ามชาติ องค์กรเอกชนยักษ์ใหญ่อย่างFacebook และ Google ก็ได้ร่วมมือกับ WWF โดยตั้งเป้าลดการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ในปี 2020 ให้ได้ร้อยละ 80


ขณะที่ประเทศไทยภาครัฐก็เร่งดำเนินการแก้กฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้นและเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ เนื่องจากปัจจุบันหลายฝ่ายมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยยังคงมีช่องโหว่อยู่มาก อย่างไรก็ตามนอกจากเจ้าหน้าที่แล้วประชาชนทุกคนก็ต้องให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกันในการเลิกอุปโภค บริโภคสินค้าจากสัตว์ป่าด้วยและเป็นสายตรวจ โดยหากพบเห็นการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายสามารถแจ้งสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

ทำอย่างไร? เมื่อไทยยังเป็นทางผ่านค้าสัตว์ป่า

เบื้องหลังล่อซื้อ "ลิงอุรังอุตัง" มนุษย์ล่า-สัตว์ป่าติดคุก

เปิดภารกิจเยียวยา "เสือ" ติดคดี

 วิกฤต "ไซเตส" จับตาฟาร์มเสือไทยแหล่งค้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง