ผ่านไปถึง 7 ปีหลังการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งสุดท้าย จึงเป็นข่าวใหญ่ เมื่อมีการประกาศว่า "Amy Winehouse" นักร้องหญิงผู้ล่วงลับ เตรียมฟื้นคืนชีพในคอนเสิร์ต World Tour 2019 ในรูปแบบโฮโลแกรม หรือภาพจำลองแบบสามมิติ โดยข่าวนี้ได้รับการยืนยันจาก Mitch Winehouse ผู้เป็นพ่อ และผู้ดูแลทรัพย์สินของ Amy Winehouse ซึ่งเดิมทีไม่เห็นด้วยกับการชุบชีวิตนักร้องที่จากไปด้วยเทคโนโลยี จนกระทั่งเขาได้มีโอกาสชมคอนเสิร์ตโฮโลแกรมของนักร้องผู้ล่วงลับ Roy Orbison และเห็นภาพความสมจริง และความรู้สึกตื้นตันของแฟนเพลง ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ ผู้เป็นพ่อย้ำว่าไม่ได้มีธุรกิจอยู่เบื้องหลัง เพราะรายได้ทั้งหมดจะนำไปเข้ากองทุน Amy Winehouse Foundation เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด และภาวะทางอารมณ์ อันเป็นสาเหตุของการจากไปของอดีตนักร้องสาว
ความคิดเห็นต่อการคืนชีพนักร้องหญิงในตำนานด้วยเทคโนโลยีโฮโลแกรมแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง แม้แฟนเพลงจะได้เห็นนักร้องในดวงใจกลับมาโลดแล่นบนเวทีอีกครั้ง ในรูปแบบที่ต่างออกไป แต่ไม่น้อยมองว่านี่อาจเป็นเรื่องของเม็ดเงิน และไม่ใช่การตัดสินใจด้วยตัวของนักร้องเอง ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ที่จะแสดงความเคารพผู้ที่จากไป ด้วยการไม่บังคับให้เธอกลับมาขึ้นเวทีคอนเสิร์ตอีกครั้ง ทั้งที่เจ้าตัวไม่ต้องการ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว และมีการถกเถียงมาตลอดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอจากไปก่อนวัยอันควร อาจมาจากความกดดันจากการทัวร์คอนเสิร์ตร่วมด้วย
ไม่เพียงปลุกตำนานศิลปินผู้จากไป ทุกวันนี้เทคโนโลยีโฮโลแกรมยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเสิร์ตขณะที่ศิลปินยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเทคโนโลยีเสมือนจริงช่วยทุ่นแรงให้ศิลปินสามารถรับงานได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลๆ ด้วยตัวเอง โดยสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษคาดการณ์ว่านี่อาจเป็นรูปแบบของคอนเสิร์ตในอนาคตก็ได้ แต่คำถามใหญ่ คือกรณีการนำเทคโลโนยีนี้มาใช้กับศิลปินผู้ล่วงลับว่าเหมาะสมเพียงใดต่างหาก โดย Catherine Allen ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี VR และจริยธรรม ให้ความเห็นว่าแม้ศิลปินจะเสียชีวิตไปแล้ว การนำชื่อ ภาพและเสียง ของพวกเขาไปใช้ต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมายและลิขสิทธิ์ ซึ่งศิลปินบางคนอาจระบุไว้ในพินัยกรรมก่อนเสียชีวิตว่าจะอนุญาตหรือไม่ เช่น การที่ดาวตลก Robin Williams ไม่อนุญาตให้นำเสียง และภาพโฮโลแกรมไปใช้ในผลงานใดๆ ภายใน 25 ปีหลังจากที่เขาเสียชีวิต ดังนั้น หากปราศจากการตัดสินใจของศิลปินเอง เช่น กรณีของ Amy Winehouse ก็จึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะเป็นการสร้างภาพเสมือนจริงของบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมา และแง่หนึ่งคือการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมาภายหลังได้