วันนี้ (30 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจ เรื่อง การใช้ชีวิตกับสุขภาวะคนวัยทำงาน โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง การใช้ชีวิตกับสุขภาวะคนวัยทำงาน กรณีศึกษาตัวอย่างคนวัยทำงานทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 5,160 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.7 ระบุไม่ได้กินข้าวเช้าทุกวันในขณะที่ ร้อยละ 41.3 ระบุกินข้าวเช้าทุกวัน
เมื่อสอบถามถึงการกินผลไม้ได้ตามเกณฑ์สุขภาพดีต่อวันหรือไม่ พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 49.9 กินผลไม้น้อยถึงไม่กินเลย ในขณะที่ร้อยละ 37.3 กินผลไม้ได้ตามเกณฑ์ปานกลาง และร้อยละ 12.8 กินผลไม้ได้มากถึง มากที่สุดต่อวัน
เมื่อถามถึงการกินผักตามเกณฑ์สุขภาพดีต่อวัน พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.5 กินผักได้ตามเกณฑ์ปานกลาง ร้อยละ 38.6 กินผักน้อยถึงไม่กินเลย และร้อยละ 7.9 เท่านั้นที่กินผักได้มากถึงมากที่สุด
นอกจากนี้ที่น่าพิจารณาคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 45.1 ไม่ได้ออกกำลังกายเลยต่อวัน ในขณะที่ร้อยละ 32.7 ออกกำลังกาย 1 – 2 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น มีเพียงร้อยละ 5.2 ที่ออกกำลังกายทุกวัน ที่น่าเป็นห่วงคือ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25.6 สูบบุหรี่ และร้อยละ 14.1 เคยสูบแต่เลิกแล้ว แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ไม่เคยสูบบุหรี่ ในขณะที่ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.0 ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ และที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 52.1 พอใจต่อสุขภาวะตนเองระดับ ปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 37.9 พอใจมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 10.0 พอใจน้อยถึงไม่พอใจเลย
ผอ. สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลวิเคราะห์โมเดลที่ศึกษาตามกรอบวัดความสุขคนวัยทำงานของ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ครั้งนี้ พบว่า คนวัยทำงานที่ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินข้าวเช้า แต่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ทานผัก ไม่ทานผลไม้ จะทำให้ความสุขต่อสุขภาวะลดน้อยลง จึงเสนอให้หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเข้าให้ถึงคนวัยทำงานทั้งในองค์กรและนอกระบบ เน้นให้คนหันมากินข้าวเช้า ออกกำลังกาย ลดการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ที่เหมาะสมไม่อันตรายต่อสุขภาพและควรเพิ่มการทานผักผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อทำให้ความสุขต่อสุขภาวะของคนวัยทำงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน