ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมอนามัยเตือน "ส้วม" แหล่งท่องเที่ยวเสี่ยงแพร่เชื้อโรค

สังคม
3 พ.ย. 61
11:03
1,007
Logo Thai PBS
กรมอนามัยเตือน "ส้วม" แหล่งท่องเที่ยวเสี่ยงแพร่เชื้อโรค
กรมอนามัย ชี้ส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว - สถานประกอบการที่ขาดการดูแล และรักษาความสะอาดเสี่ยงแพร่เชื้อโรค ถึงแม้จะพบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 74% แต่อุปกรณ์ในห้องน้ำ เช่น ที่จับสายฉีดชำระ เป็นแหล่งเสี่ยงที่ตรวจพบเชื้อโรค 85% จี้ทำความสะอาดเพื่อสุขภาพนักท่องเที่ยว

วันนี้ (3 พ.ย.2561) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงควรมีการจัดการและควบคุมดูแลส้วมในแหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการต่างๆ ให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ รวมถึงเครื่องใช้ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในส้วม เพื่อป้องกันโรคติดต่อ และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น 

ส้วมในแหล่งท่องเที่ยว ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส้วมสาธารณะที่ขาดการดูแลและรักษาความสะอาดที่ดี จะกลายเป็นแหล่งแพร่โรคติดต่อได้

ที่ผ่านมากรมอนามัย สนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศคือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย รวมทั้งการจัดการขยะ ควรจัดเตรียมถังขยะพร้อมฝาปิดมิดชิดไว้บริการ และจัดให้มีการคัดแยกขยะ เพื่อความเป็นระเบียบ ลดปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัด และลดการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลงพาหะนำโรค

 

 

ทั้งนี้การพัฒนาส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว พบว่าผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 74 จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ และผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยวใส่ใจด้านความสะอาดของส้วมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการทำความสะอาดแหล่งปนเปื้อนเชื้อโรค เช่นที่จับสายฉีดชำระ ตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุดถึงร้อยละ 85 บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 ที่รองนั่งโถส้วม พบร้อยละ 31 ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะพบร้อยละ 8 ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือพบ ร้อยละ 7 กลอนประตูหรือลูกบิดพบร้อยละ 3

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ส้วมให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ หรือแบบชักโครก ไม่ทิ้งขยะหรือวัสดุใดๆ ลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม

นอกจากนี้ต้องมีจำนวนที่เพียงพอ โดยให้มีห้องส้วมหญิง 3 ห้องต่อจำนวนเพศหญิงไม่เกิน 15 คน และห้องส้วมชาย 2 ห้อง และ 1 โถปัสสาวะชาย ต่อจำนวนเพศชายไม่เกิน 15 คน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 ขึ้นอยู่กับว่าสถานที่ของแต่ละแห่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใดอีกทั้งต้องมีผู้ดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง