เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.2561) ตัวแทนภาคประชาชนหลายเครือข่ายนำหลักฐานที่ประกอบด้วยข้อมูลวิชาการ งานวิจัย ผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา, กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อช่วงเช้าวานนี้
ตัวแทนผู้ยื่นฟ้องยืนยันไม่มีเจตนาขัดขวางการพัฒนา แต่โครงการนี้ไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียที่รอบด้าน และถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางกฎหมายทั้งการออกแบบ, การขออนุญาตสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ, การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่สาธารณประโยชน์
โดยทางเครือข่ายได้เคลื่อนไหวคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่จนถึงเวลานี้ โครงการก็ยังคงเดินหน้า ใกล้ถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อป้องกันความเสียหายจะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จึงยื่นฟ้อง ขอให้ศาลสั่งยกเลิกโครงการ พร้อมยื่นคำร้องให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ชะลอโครงการนี้ไปก่อน ในระหว่างกำลังพิจารณาคดี
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำได้คำนึงถึงผลกระทบทุกด้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแบบ เบื้องต้นจะดำเนินการใน 2 ช่วง คือช่วงแรก ฝั่งพระนคร จาก สะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน สามเสน ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร งบประมาณ 1,770 ล้านบาท
ส่วนช่วงที่ 2 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด พื้นที่เขตบางพลัด ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร งบประมาณโครงการ 2,061.5 ล้านบาท คาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2562 จะประกาศร่างทีโออาร์ โดยกรมบัญชีกลาง และจะเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ระหว่างนั้นจะเปิดโอกาสให้คัดค้าน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานด้วยเหตุและผล
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกนำเสนอต่อสาธารณะในปี 2558 โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะพัฒนาให้พื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำให้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศ แต่มีข้อกังวลเรื่องผลกระทบ เนื่องจากเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่กินพื้นที่กว้าง จนนำมาสู่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาสั่งยกเลิกโครงการนี้