มีคนไทยจำนวนหนึ่งยินดีส่งบุตรหลานเข้าศึกษาโรงเรียนนานาชาติ ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่าปีละ 500,000 - 700,000 บาท เพื่อแลกกับคุณภาพการศึกษา ซึ่งมี 3 หลักสูตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ และสวิซเซอร์แลนด์
แม้ส่วนแบ่งตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทย มีเพียงร้อยละ 1-2 ของทั้งระบบ แต่มีมูลค่ารายได้ในอุตสาหกรรมนี้ สูงกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
สถิติการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี รับนโยบายเปิดกว้างการลงทุนจากต่างชาติและอีอีซี โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน และเกาหลีใต้
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กก.ผอ.บลจ.ฟินันเซีย ไซรัส และที่ปรึกษาการเงินบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า การแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น ทำให้โรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง ติดต่อขอคำปรึกษาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมเงินลงทุนขยายกิจการ ทั้งเพิ่มจำนวนสาขา จัดซื้อคุรุภัณฑ์ตามหลักสูตร ตลอดจนแย่งซื้อตัวครูต่างชาติ โดยมีบริษัทเอสไอเอสบี เป็นกรณีศึกษาการฝ่ากระแสสังคม
ยิว ฮอค โคล ปธ.จนท.บริหาร บมจ.เอสไอเอสบี กล่าวว่า บริษัทได้รับการทาบทามให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ แต่เลือกที่จะใช้เวลานานร่วม 7 ปี เตรียมตัวก่อนเข้าตลาดหุ้นไทย เพราะตัวเองอาศัยบนแผ่นดินไทยมานานกว่า 20 ปี จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย พร้อมยอมรับว่า ในการทำธุรกิจย่อมหวังผลกำไร แต่จะทำบนหลัก "การศึกษานำธุรกิจ" เพื่อรักษาชื่อเสียงในระยะยาว รับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ผลสำรวจจาก World Wealth Report รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2551-2559 คนไทย ที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง หรือสินทรัพย์มูลค่าเกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมมูลค่าที่อยู่อาศัย ของใช้ และของสะสมมีค่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโตเฉลี่ยร้อยละ 11.2 ต่อปี
กระทั่งปี 2559 มีคนไทยกลุ่มนี้ มากกว่า 1 แสนครัวเรือน สะท้อนถึงการเติบโตของประชากรที่มีกำลังซื้อ และเป็นกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งสวนทางกับจำนวนการเกิดใหม่ของประชากร ทำให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการศึกษามากขึ้น