ความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทยและอุทยานที่สำคัญของโลก แหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
บ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวได้เห็นและสัมผัสสัตว์ป่าที่ออกมาเดินอวดโฉม ทั้งเก้ง กวางป่า เลียงผา เม่น ลิง หรือแม้กระทั่ง "ช้างป่า" ซึ่งออกมาหากินตามโป่ง อย่างโป่งทุ่งกวาง ทุ่งหญ้าหนองผักชี ไม่เว้นแม้แต่ถนนที่ตัดผ่านเขาใหญ่ ทำให้คนกับสัตว์ป่าใกล้ชิดกันมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อกัน
จึงต้องมีคนกลางที่ทำหน้าที่ปกป้องสัตว์ป่าและนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้สัญจรผ่านเขาใหญ่ นั่นคือ "ชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกรณีช้างป่า" หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกว่า "ทีมอารักขาช้าง"
ภารกิจเริ่มขึ้น เมื่อได้รับแจ้งว่า พบ "59" หรือรหัสที่ใช้เรียก "ช้างป่า" ทีมอารักขาช้าง ซึ่งประจำอยู่ที่ป้อมเขาเขียว ริมถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ จะรีบมุ่งหน้าไปทันที สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อพบช้างป่า คือระบุตัวช้างและประเมินนิสัย
ช้างแต่ละตัวนิสัยไม่เหมือนกัน ยากง่ายก็ไม่เหมือนกัน อีกอย่างคือพื้นที่แถวนั้นโค้งมากแค่ไหน รถเยอะไหม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ
สุทธิพร สินค้า หนึ่งในทีมอารักขาช้าง เล่าให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟัง ขณะที่เฝ้าสังเกตการณ์ช้างที่เพิ่งออกจากป่าในบ่ายวันหนึ่ง
เขาเล่าต่อว่า หากมีช้างป่าออกมาเดินบนถนน ทีมงานจะคอยกันหรือบล็อกไม่ให้เข้าใกล้นักท่องเที่ยว ซึ่งทีมงานจะจำช้างแต่ละตัวได้ และการควบคุมช้างแต่ละครั้งก็มีความยากง่ายแตกต่างกันตามลักษณะพื้นที่ที่พบ จึงต้องมีการประเมิน ก่อนปล่อยให้รถนักท่องเที่ยวขับผ่านไป
เช่น บางพื้นที่ไม่มีไหล่ทาง หรือเป็นหน้าผาสูงชัน ต้องปล่อยให้ช้างเดิน เพราะช้างไม่มีที่หลบ โดยเจ้าหน้าที่จะขับรถประกบทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีที่ให้ช้างยืนอย่างปลอดภัย ดังนั้นนักท่องเที่ยวหรือผู้สัญจรผ่านเส้นทาง จึงต้องรอจนกว่าจะหาด่านให้ช้างเดินลงได้
นอกจากนี้ การปล่อยรถให้ผ่านไประหว่างที่ช้างอยู่บนถนน บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับนิสัยของช้างแต่ละตัว สุทธิพรยกตัวอย่างว่า หากเป็น "งาทอง" ช้างเพศผู้ รุ่นใหญ่ ทีมงานสามารถโบกรถให้ผ่านไปได้ แต่หากเป็น "โยโย่" ช้างหนุ่ม นิสัยดื้อ ก็ต้องหาด่านให้ลงก่อน จึงจะปล่อยรถผ่านไปได้
การทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับช้างป่าที่คาดเดาอารมณ์ไม่ได้ ทั้งในภาวะที่อารมณ์ปกติและในช่วงตกมัน ทำให้ "งาดำ" ชื่อเรียกรถกระบะที่ใช้ในการปฏิบัติงาน บุบเสียหายไม่น้อยจากฝีมือของพวกมัน
เป็นเรื่องปกติ ส่วนมากคันนี้จะชินกับช้าง ถ้าช้างเห็นก็ไม่ค่อยมีปัญหา สบายๆ เราขับนำหน้าบ้าง ตามหลังบ้าง มีทีมงานประคองหน้าหลัง ช้างเดินได้ รถก็สวนได้
แม้จะมีทีมอารักขาช้างที่ทำหน้าที่กันช้างกับนักท่องเที่ยวไม่ให้ใกล้กันเกินไป แต่นักท่องเที่ยวและผู้สัญจรผ่านเขาใหญ่ ก็ควรปฏิบัติตามระเบียบของอุทยานฯ
ทางด้าน ศรุต พิรักษา ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บอกว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ช้างมากเกินไป ยั่วยุช้าง ถ่ายรูป หรือบีบแตรรถ ทำให้ช้างตกใจ ส่งผลให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อพบกับช้างบนถนน คือ ให้อยู่ห่างจากช้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร เพราะถือเป็นระยะที่ปลอดภัย อย่าเปิดไฟกระพริบ อย่าเปิดไฟสูง และอย่าบีบแตร เพราะจะทำให้ช้างตกใจ รวมถึงอย่าดับเครื่องยนต์ โดยต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะหลบเลี่ยงช้างอยู่ตลอดเวลาด้วย
เข้ามาในอุทยานฯ เหมือนเข้ามาในบ้านของสัตว์ป่า ทุกอย่างที่คนทำ กระทบกับสัตว์ป่าทั้งนั้น
ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ บอกอีกว่า การเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ นับเป็นเขตเฉพาะ ต้องมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ พร้อมทั้งขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและผู้สัญจรผ่านเขตอุทยานฯ จำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมทั้งไม่ทิ้งขยะและไม่ส่งเสียงดัง
ดวงกมล เจนจบ / ไทยพีบีเอสออนไลน์