ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลสำรวจ "นิด้าโพล" ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ เชื่อเลือกตั้งครั้งนี้มีซื้อเสียง

การเมือง
28 ม.ค. 62
12:41
560
Logo Thai PBS
ผลสำรวจ "นิด้าโพล" ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ เชื่อเลือกตั้งครั้งนี้มีซื้อเสียง
ผลสำรวจของนิด้าโพล ประชาชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีการซื้อสิทธิ์-ขายเสียงเกิดขึ้น ขณะเดียวกันดุสิตโพล ชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หวังให้การหาเสียงเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยอ้างอิงเหตุผลว่า เบื่อนักการเมือง ที่คุยโม้ โอ้อวด

วันนี้ (28 ม.ค.62) สวนดุสิตโพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร และนโยบายหาเสียง พบว่าร้อยละ 30.72 ระบุว่า ทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 25.31 ระบุว่า ทำให้รู้จักผู้สมัครและนโยบายพรรคการเมืองมากขึ้น แต่ร้อยละ 24.69 ระบุว่า ยังมีกระแสของการโจมตีกันไปมา ในรูปแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ ร้อยละ 45.29 ระบุว่า ประชาชนอยากฟังนโยบายของพรรค รองลงมา ร้อยละ 40.67 ระบุว่า อยากให้มีการพัฒนาบ้านเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่วนร้อยละ 38.54 ระบุว่า อยากให้มีวิธีการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชน ส่วนสิ่งที่ประชาชนไม่อยากฟัง และไม่อยากรับรู้จากการหาเสียง พบว่าร้อยละ 34.04 ระบุว่า คุยโม้ โอ้อวด และสัญญาว่าจะให้ รองลงมาร้อยละ 32.80 ระบุว่า ใส่ร้ายป้ายสีและพาดพิงผู้อื่น ส่วนร้อยละ 26.48 ระบุว่า พูดไม่ตรงประเด็น

รวมถึงการนำเรื่องในอดีต หรือเรื่องที่ผ่านมาแล้วมาโจมตีกัน สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากฝากนักการเมือง ผลสำรวจพบว่า เรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุด คือการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด รองลง คือไม่ซื้อเสียง และควรหาเสียงอย่างบริสุทธิ์-ยุติธรรม รวมไปถึง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีคู่แข่ง หรือนโยบายที่นำเสนอ ต้องทำได้จริง

ขณะที่นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจต่อการหาเสียงของพรรคการเมืองกับการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 53.28 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า พรรคการเมืองจะสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ และตัวเลขที่แสดงความเชื่อมั่นจะอยู่ที่ ร้อยละ 20.48 ทั้งนี้ยังพบว่า ร้อยละ 42.32 ระบุว่า นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. ค่อนข้างมาก และร้อยละ 28.08 ชี้ว่าไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจ

ส่วนเรื่องการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 78.16 ระบุว่า มีแน่นอน ที่เชื่อว่าไม่มี มีเพียงร้อยละ 18.88 และที่ไม่แน่ใจ อยู่ที่ร้อยละ 2.96 ขณะเดียวกัน ร้อยละ 72.64 ระบุว่า ประชาชนกระตือรือร้น ที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้ง หลังจากไม่มีการเลือกตั้งมานาน 5 ปี พบว่า รองลงมาร้อยละ 19.68 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้น และร้อยละ 7.68 ระบุว่า ไม่มีความกระตือรือร้นเลย

ส่วนลักษณะของ ส.ส. ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด พบว่าร้อยละ 30.32 ระบุว่า เข้าถึงประชาชน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข รองลงมาร้อยละ 15.36 ระบุว่า มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ ร้อยละ 14.16 ระบุว่า มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง