จ.สระบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นเหตุให้ในรายงานสรุปสถานการณ์มลพิษของกรมควบคุมมลพิษประจำปี 61 ของ จ.สระบุรี โดยเฉพาะ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ มีจำนวน วันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 165 วัน จากการตรวจวัด 362 วัน ร้อยละ 46 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27 ค่าที่วัดได้อยู่ระหว่าง 27-303 มคก./ลบ.ม. สาเหตุเกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองหินใน พื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง การจราจร การบรรทุกขนส่ง ถนนชำรุด
กรมควบคุมมลพิษ
ฝุ่น PM 10 ทะลุ 256 มคก.
ล่าสุด วันนี้ (30 ม.ค.2562) เมื่อเวลา 12.00 น.กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 ตรวจวัดได้ 256 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐาน (120 มคก./ลบ.ม.) อยู่ในเกณฑ์ "มีผลกระทบต่อสุขภาพ"
ส่วนปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ตรวจวัดได้ 85 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเป็นปริมาณที่ตรวจวัดได้สูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ (24 - 30 ม.ค.)
ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการระมัดระวังในการประกอบกิจการไม่ให้เกิดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสุ่มตรวจโรงงานในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด ตามมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะ จ.สระบุรี ที่ฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
6 บริษัท ตั้งโรงปูนใน 4 อำเภอ จ.สระบุรี
ขณะที่ ทีมข่าวไทยพีบีเอส พบข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ปี 2559 ระบุว่า มี บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ 6 บริษัท ตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สระบุรี ได้แก่ อ.บ้านหมอ อ.พระพุทธบาท อ.แก่งคอย อ.เฉลิมพระเกียรติ ดังนี้
บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
- อ.บ้านหมอ
- อ.พระพุทธบาท
- อ.แก่งคอย
- อ.เฉลิมพระเกียรติ
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
- แก่งคอย
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
- อ.แก่งคอย
บริษัท ปูนซีเมนต์ เอเซีย จำกัด (มหาชน)
- อ.พระพุทธบาท
บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด
- อ.แก่งคอย
บริษัท ปูนซีเมนต์ตราลูกโลก จำกัด
- อ.เฉลิมพระเกียรติ
ครม.อนุมัติต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่หิน
ขณะที่ล่าสุด วันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการขอผ่อนผันให้บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทฯ ที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี โดยสิ้นอายุวันที่ 8 ก.ย.2556 ตามคำขอต่ออายุประทานบัตรที่1-4/2553 รวม 4 แปลง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2538 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐ กิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคม เช่น การกำกับให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม การดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของบริษัทหินอ่อน จำกัด จ.สระบุรี
ทั้งนี้ พื้นที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกีรติ ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเมื่อปี 2547 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยมีปัญหามลพิษหลักคือ ฝุ่นละอองที่มาจากการประกอบกิจการโรงงาน โม่ บด ย่อยหิน กิจการเหมืองหิน โรงงานปูนซิเมนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เป็นพิเศษและต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ ซึ่งนับรวมแล้ว 15 ปี แต่ในช่วงเดือนธ.ค.ต่อเนื่องถึงเดือนก.พ.ของทุกปี พื้นทีหน้าพระลาน ยังเผชิญกับค่ามลพิษจากฝุ่นละอองต่อเนื่องทุกปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ่วม 7 วันติด ฝุ่นพิษหน้าพระลานพุ่งสูง กระทบสุขภาพ