วันนี้ (18 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนกลุ่มชาวนา 4 ภาคประมาณ 100 คนเดินทางเข้าเดินทางมาที่รัฐสภา เพื่อให้ข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว กับคณะกรรมการตรวจร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. อีกครั้งหลังจากได้ผ่าน สนช. ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และคณะกรรมาธิการฯได้ทำการแก้ไขเสร็จแล้ว ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสนช.วาระ 2 และ3 เพื่อพิจารณาบังคับใช้กฎหมายให้ทันรัฐบาลชุดนี้
พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญ สนช. กล่าวว่า เป้าหมายร่างพ.ร.บ.ข้าวต้อง การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งตลาดข้าว และการค้าขายโดยกฎหมายฉบับนี้ ได้เปิดให้ตัวแทนจากทุกฝ่าย รวมถึงชาวนามีส่วนร่วมวางแผนพัฒนาข้าวในคณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าว หรือ นบข.ซึ่งทุกรัฐบาลจะต้องนำไปดำเนินการ
และยังมีอนุกรรมการฯที่ต้องวางนโยบายการผลิตและการตลาดให้เหมาะสม และยังดึงพ.ร.บ.พันธุ์พืช เข้ามาอยู่ร่างพ.ร.บ.ข้าว เพื่อเพิ่มอำนาจให้กรมการข้าวดูแลเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย เพื่อป้องกันลักลอบนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ทำให้ข้าวไม่มีคุณภาพเข้าในประเทศ แม้จะมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่กรรมาธิการเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้รับทราบแหล่งที่มาจากข้าวได้ชัดเจนตรวจสอบได้
ส่วนปัญหาซื้อขายเมล็ดพันธุ์ที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลในมาตรา 27 ยืนยันว่า บิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะกรรมาธิการ ยังไม่ได้ลงมติใดๆ และกฎหมายได้เขียนข้อยกเว้นให้ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ปรับตัว 3 ปีเพื่อรับรองเมล็ดพันธุ์ข้าว
ชาวนายังสามารถขายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ไม่มีโทษใดๆ
ดังนั้นก่อนจะเข้า สนช.วาระ 2 และ 3 กรรมา ธิการจึงปรับแก้มาตรา 27 ให้มีการส่งเสริมพันธุ์ข้าว และโรงสีต้องออกใบรับซื้อข้าว เพื่อส่งให้หน่วยงานรัฐเพื่อรับทราบแหล่งที่มาของข้าว ส่วนของชาวนา สามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กันเองได้ไม่มีโทษ
ส่วนนายวิชัย ชิดตยวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทยกลุ่มภาคเหนือ ยืนยันว่าชาวนาต้องการให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพข้าวโดยเฉพาะการจัดโซนนิ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมั่นใจว่าแม้ชาวนาจะสามารถทำเมล็ดพันธุ์ข้าวได้และมีการจำหน่ายก็จะไม่ได้รับโทษ
นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย และเลขานุการคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศยืนยันว่า เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ข้าวที่จะเปิดโอกาสให้ชาวนามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายวางแผนพัฒนาข้าวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ก่อนหน้านี้ 4 สมาคมข้าวสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมโรงสีข้าวไทยสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ นายนิพนธ์พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ข้าว ฉบับแก้ไขโดย เห็นว่า สาระสำคัญของกฏหมายอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อวงการข้าวโดยเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่บังคับให้ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่และจะกระทบทำให้ชาวนาถูกกดราคาจากต้นทุนการตรวจสอบพันธุ์ข้าว
นายกฯ ห่วงข้อมูลบิดเบือนชาวนาครอบครองข้าวผิดก.ม.
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และการนำเสนอข่าวที่บิดเบือนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติข้าว ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นกลไกควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวเปลือกอย่างเป็นธรรม
กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการครอบครองเมล็ดพันธุ์ข้าวว่ามีความผิด และเป็นกฎหมายที่เอื้อนายทุน รัฐบาลขอยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ข้อมูลนี้ก็ไม่ถูกต้อง ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ และผู้ที่โพสต์หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ชาวนาสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองได้โดยไม่มีความผิด แต่หากจะนำไปขาย ต้องไปขอขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหมือนกับสินค้าอาหารเครื่องดื่ม ที่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อรับรองคุณภาพสินค้า
ขอยืนยันว่าพ.ร.บ.ข้าวจะช่วยคุ้มครองชาวนาในระยะยาว ไม่ให้ถูกโรงสีเอาเปรียบกดราคา โดยอ้างว่าข้าวเปลือกของชาวนาไม่มีคุณภาพ และยังทำให้พันธุ์ข้าวต่างๆ ได้รับการขึ้นทะ เบียนรับรองมาตรฐาน รวมถึงป้องกันการหลอกขายเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าที่ไร้ความรับผิดชอบ
วิป สนช.เรียกชาวนาหารือตรวจร่าง พ.ร.บ.ข้าว
นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิปสนช. กล่าวว่า หลังเกิดความเข้าใจผิด วันนี้ทางวิป สนช.จึงนัดตรวจร่าง พ.ร.บ.ข้าวอีกครั้ง โดยประสานเชิญตัวแทนชาวนาจากทุกภาค ให้เข้าร่วมพิจารณาและให้ข้อมูล
หากมีประเด็นที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบกับชาวนา ก็พร้อมที่จะปรับแก้ เพราะก่อนหน้านี้มีความเข้าใจผิดในบางมาตรา ขณะนี้ได้มีการปรับแก้แล้ว โดยเฉพาะมาตรา 27 ที่ระบุว่าผู้ใด นำพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองไปใช้ จะมีความผิดมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท มีการตัดออกไปแล้ว ซึ่งตามเจตนารมณ์ในตอนแรก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ได้หมายรวมถึงชาวนา แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายจึงตัดออกไป
หากตรวจร่างและปรับแก้แล้วไม่มีปัญหา ก็คาดว่าจะสามารถพิจารณาได้ในวันนี้ตามเดิม หรือหากอาจจะเป็นวันที่ 20 ก.พ.นี้ เพื่อให้ทันและใช้ได้ในรัฐบาลนี้ เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายนี้เป็นประโยชน์กับชาวนา
ห่วงเปิดช่องให้กับการผูกขาดปัจจัยการผลิต
นายชูชาติ ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมสภา องค์กร ชุมชนระดับชาติ ระบุว่าจากการศึกษา พ.ร.บ. ข้าวฉบับนี้ มีข้อกังวล หลายอย่าง โดยเฉพาะมาตรา 12 ว่าด้วยคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการผลิตและการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ซึ่งผู้คัดค้านกังวลว่า จะ เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างโครงการภาครัฐขนาดใหญ่โดยอ้าง พ.ร.บ. ข้าวฉบับนี้
ส่วนมาตรา 21 ว่าด้วยการกำกับดูแลการผลิตข้าว โดยมีการจัดทำเขตศักยภาพการผลิต ซึ่งอาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพทางการผลิตข้าวของชาวนา และอีกหลายข้อที่อาจเป็นการควบคุมกำกับพันธุ์ข้าวและอาจทำให้ชาวนาไม่สามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ของตนเอง จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดขึ้นในอนาคต
โดยสภาองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายเรียกร้องให้สนช. ยกเลิกพ.ร.บ.ข้าวทันที และจะเดินหน้าคัดค้านให้ถึงที่สุด โดยหลังจากการแถลงข่าว ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อศูนย์ดำรงค์ธรรมจังหวัดขอนแก่นด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สนช.ระบุ พ.ร.บ.ข้าว ไม่กระทบเมล็ดพันธุ์ชาวนา
ชาวนาค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว หวั่นถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์