เมื่อมีข่าวของการ “การุณยฆาต” ในการเดินทางสู่วาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบก็ได้รับความสนใจอย่างมากทุกครั้ง และเมื่อกรณีล่าสุด กับชายไทยที่ป่วยเป็นเนื้องอกในสมองและเลือกใช้การุณยฆาตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากประเทศไทยกฎหมายยังไม่อนุญาต
นายพิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน ผู้ชำนาญการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.สุข ภาพแห่งชาติ ปี 2550 มาตรา 12 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการเสียชีวิตในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
ดังนั้น ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงกำหนดให้แพทย์สามารถยุติการรักษา และให้ผู้ป่วยเสียชีวิตตามธรรม ชาติตามระยะของโรค ตามเจตจำนงของผู้ป่วยได้ระบุไว้ ทั้งการสื่อสารปกติคือการพูดหรือการทำหนัง สือแสดงเจตจำนง โดยไม่อนุญาตให้ใช้กระบวน หรือฉีดสารเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
นายพิสิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีล่าสุดที่ผู้ป่วยชาวไทยเดินทางไปทำการุณยฆาตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในมุมหนึ่งสามารถมองได้ว่า ประเทศไทยมีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองค่อนข้างน้อย และในบันทึกของผู้ป่วยคนนี้บอกว่าแพทย์ให้ผ่าตัดสู้จนถึงที่สุด
กรณีนี้ได้รับการรักษาจากแพทย์ที่รู้เรื่องการดูแลผู้ป่วย แบบประคับประคอง เขาอาจจะไม่ตัดสินเลือกวาระสุดท้ายชีวิตเช่นนี้
ขณะที่จากบทความของศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายความหมายไว้ในบทความ “หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต” ผ่านเว็บไซต์ thailivingwill ไว้ว่า “ความมุ่งหมายของบทบัญญัติ คือ รับรองสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (right to self-determination) โดยให้แพทย์ดำเนินตามแนวทางของ Passive Euthanasia โดยไม่ประสงค์จะยืดการเสียชีวิตด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ การรักษาพยาบาลที่ควรกระทำคือ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ตามอาการที่เกิดขึ้น บรรเทาความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย และช่วยให้เขาได้จากไปอย่างสงบตามวิถีแห่งธรรมชาติ”
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องทำหนังสือแสดงเจตนาประสงค์ไม่รับบริการสาธารณสุขล่วงหน้า เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยว่า ไม่ประสงค์รับการบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง เพื่อยืดการเสียชีวิตในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยมีผลเมื่อผู้ทำหนังสืออยู่ในภาวะที่ไม่อาจจะแสดงเจตนาด้วยตนเองได้
นอกจากนี้ ศ.แสวง ได้อธิบายความหมายของคำว่า “การทรมานจากการเจ็บป่วย” คือ ความทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจของผู้ป่วยจากโรคที่ไม่อาจรักษาให้ความทุกข์ทรมานดังกล่าวลดน้อยลงพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือหายได้
ขณะที่ประเทศไทย เนื่องจากการการุณยฆาตยังไม่อนุญาต การแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับบริการสาธารณสุข จึงควบคู่กับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ร่วมมือกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้วาระสุดท้ายในชีวิตของผู้ป่วยสิ้นสุดลงด้วยดี...
เรื่อง : ทิพากร ไชยประสิทธิ์