หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตั้งข้อสังเกตว่ามีอะไรผิดพลาดในการตรวจพยานหลักฐาน ทั้งที่ผลตรวจดีเอ็นเอระบุชัดว่ามาจากเสือดำตัวเดียวกัน
กระดูกท่อนหางเสือดำในหม้อต้มซุป เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มั่นใจว่า จำเลยทั้ง 4 คน เป็นผู้ร่วมกันล่าและกินเนื้อเสือดำ ในบริเวณแคมป์ที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก จับกุมได้
ขณะที่ซากเสือดำอีกหลายชิ้น ทั้ง ขน ชิ้นเนื้อ หนัง ลำไส้ กระดูกท่อนขา และคราบเลือด พร้อมทั้งหลักฐานอื่นๆ เช่น คราบเลือดบนเขียง มีดอีโต้ ถูกค้นพบตามมา
ทั้งหมดถูกส่งไปตรวจยังหน่วยปฏิบัติการ นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ และพบว่าดีเอ็นเอของคราบเลือด ชิ้นเนื้อ ท่อนหางในหม้อซุป ขน คราบเลือดบนมีดทั้ง 2 เล่ม เป็นดีเอ็นเอของเสือดำตัวเดียวกันที่ถูกฆ่าตาย
กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในเย็นวันที่ 19 มีนาคม หลังรู้คำตัดสินคดีของศาล ว่า
ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับรู้สึกกังวลขึ้นมา จุดหนึ่ง ก็คือการยกฟ้องนายเปรมชัย ข้อหาครอบครองซากเสือดำ
แม้จะเคารพและเชื่อมั่นในคำตัดสินของศาล แต่ก็อดไม่ได้ที่จะกลับมามองตัวเองว่า ทำอะไรบกพร่องไปหรือไม่
สิ่งที่หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ระบุก็คือ ไม่เพียงผลการตรวจที่พิสูจน์ชัดเจนว่า หลักฐานทั้งหมดมาจากเสือตัวเดียวกัน แต่ควรพิจารณาจากเจตนาของบุคคลทั้งหมดที่เข้าไปในป่า
มีการฆ่าสัตว์ให้ตาย มีการชำแหละ มีการปรุงอาหาร มีการบริโภค มีการซุกซ่อน ฯลฯ แล้วพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ในนิยามความหมายของ "การครอบครองซากสัตว์ป่า" หรือไม่
สิ่งหนึ่งที่ติดในใจกณิตาก็คือคำถามว่า การพบซุปหางเสือในหม้อ กับการพบซากไก่ฟ้าหลังเทาในกะละมัง บริเวณเดียวกัน
แต่นายเปรมชัยมีความผิดเรื่องการครอบครองไก่ฟ้าเพียงอย่างเดียว ขณะที่จำเลยอีก 3 คน กลับถูกลงโทษในข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่า (เสือดำ) ไว้ในครอบครอง