เงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นการใช้ธนบัตร ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าปริมาณธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ล่าสุดเดือน ม.ค.2562 อยู่ที่กว่า 1.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเกือบ 1 แสนล้านบาท หรือใช้ธนบัตรกันเปลืองมากขึ้นเกือบร้อยละ 6
ถ้าพิจารณาลึกลงไปว่าธนบัตรแต่ละแบบใช้มากขึ้นน้อยลงอย่างไร ระหว่าง ม.ค.2562 ก่อนเลือกตั้งหนนี้ กับเดือน ม.ค.2561 พบว่าแบงก์พันถูกใช้มากขึ้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จาก 1.41 ล้านล้านบาท เป็น 1.45 ล้านล้านบาท แบงก์ห้าร้อยปริมาณใช้น้อยลง ส่วนแบงก์ร้อยเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ย้อนไปดูการเลือกตั้งหนก่อน วันที่ 3 ก.ค.2554 ถ้าพิจารณาการใช้ธนบัตรเดือน มิ.ย.ปีนั้น เทียบกับปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาท เฉพาะแบงก์พันใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ส่วนแบงก์ห้าร้อยใช้น้อยลง สำหรับแบงก์ร้อยเพิ่มขึ้นมากว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้เห็นภาพว่าการเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 2 ครั้ง ปริมาณการใช้ธนบัตรบางประเภทเพิ่มขึ้น ตั้งข้อสังเกตได้ว่าอาจผูกโยงกับการเลือกตั้งและเห็นได้ชัดว่าธนบัตรที่นิยมใช้กันมากที่สุดในช่วงเลือกตั้งคือแบงก์พันกับแบงก์ร้อย
เป็นไปได้ที่ส่วนใหญ่ถูกใช้ในกิจกรรมการหาเสียง ทั้งงบประมาณจัดการเลือกตั้งที่ กกต.กำหนดกรอบวงเงินไว้ 5,800 ล้านบาท สูงที่สุดเท่าที่มีเลือกตั้งมาเช่นกัน ทั้งรณรงค์เลือกตั้ง สื่อประชาสัมพันธ์ สถานที่ อุปกรณ์ บุคคลากรทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า ในประเทศ ต่างประเทศและการเลือกตั้งทั่วไป
กกต.ยังกำหนดให้ผู้สมัครเลือกตั้งหาเสียงด้วยวงเงิน 1.5 ล้านบาท ส่วนภาคธุรกิจทั้งโฆษณา ค้าส่ง ค้าปลีก การผลิตกระดาษ ร้านอาหาร โรงแรมน้ำมัน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ล้วนได้อานิสงส์จากการเลือกตั้งอย่างน้อยในช่วงเวลา 59 วันที่พรรคการเมืองหาเสียง
มหาวิทยาลัยหอการค้าเคยประเมินไว้ว่า เงินสะพัดจากการเลือกตั้งรวมๆ แล้วอาจอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท แม้ตอนหลังประเมินน้อยลงเหลือไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ธนบัตรหรือเงินสดที่เข้าสู่ระบบส่วนหนึ่งเชื่อได้ว่าอยู่ในกิจกรรมต่างๆ แต่ก็อาจตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่าเงินสดบางส่วนอาจใช้ไปในกิจกรรมที่ไม่ปกติอย่างซื้อเสียง
อาจมีข้อโต้แย้งว่ายุคนี้เทคโนโลยีการเงินไปไกลแล้ว การแจกเงินสดอาจเป็นเรื่องเชย อย่างภาพที่ถูกแชร์ต่อกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เจ้าของบ้านให้จ่ายผ่านพร้อมเพย์ถ้าใครอยากได้คะแนนเสียง ต้องไม่ลืมว่าธุรกรรมผ่านระบบเทคโนโลยีคือเรื่องโปร่งใสตรวจสอบง่ายกว่าเงินสด ดังนั้นการตรวจสอบความผิดปกติการใช้เงินเลือกตั้งจากปริมาณเงินสดหมุนเวียนก็อาจยังใช้ได้กับเรื่องการเลือกตั้ง เว้นแต่จะซื้อเสียงแบบไม่ให้เงิน แต่ให้เป็นอย่างอื่นแทน จึงหวังว่าเงินสดที่ออกมาหมุนเวียนมากขึ้นในช่วงนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์กับกิจกรรมการเลือกตั้ง ไม่ใช่แจกเพื่อซื้อเสียง