ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พายุสุริยะ" ไม่ใช่สาเหตุโลกร้อน

Logo Thai PBS
"พายุสุริยะ" ไม่ใช่สาเหตุโลกร้อน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยืนยัน "พายุสุริยะ" ไม่ใช่สาเหตุโลกร้อน ยืนยันไม่มีผลทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ชี้ข่าวที่เผยแพร่บนโลกโซเชียลเป็นข่าวลวง ขอคนไทยอย่าตระหนก

วันนี้ (22 เม.ย.62) นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางโลกโซเชียลในประเด็น "พายุสุริยะจะพุ่งปะทะโลกใน 48 ชั่วโมง เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกอยู่ในช่วงสลับขั้ว จึงทำให้อ่อนกำลังลง จะส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นทั่วโลก" กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พายุสุริยะไม่ได้ส่งผลกระทบให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นหรือเกิดอันตรายต่อโลก จะมีผลกระทบเพียงระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

นายศรัณย์ กล่าวว่า การสลับขั้วสนามแม่เหล็กต้องใช้ระยะเวลานับแสนปี ดังนั้น ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลาวันหรือสองวัน อาจส่งผลเล็กน้อย เช่น เกิดแสงออโรราบริเวณขั้วโลกมากกว่าปกติเท่านั้น แต่ที่เกิดการเผยแพร่ข่าวในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นเพราะการนำข้อมูลเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และโลกมาเชื่อมโยงกัน ประกอบกับขณะนี้เมืองไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ทุกพื้นที่ของประเทศมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา จึงทำให้เกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลจากการรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าว

นายศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดวงอาทิตย์เป็นก้อนแก๊สขนาดใหญ่มีปฏิกิริยาภายในเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ที่บริเวณผิวของดวงอาทิตย์นอกจากจะมีอุณหภูมิสูงมากแล้วยังมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ปรากฏการณ์การลุกจ้า (Solar Flare) ปรากฏการณ์การเกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ปรากฏการณ์การปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection) เป็นต้น

การเกิดปรากฏการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น

กรณีของการปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ กลุ่มมวลที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะอยู่ในรูป “พลาสมา” หรือสถานะที่อะตอมของธาตุอยู่ในสภาพเป็นไอออน เป็นประจุไฟฟ้าพลังงานสูง หากมีการระเบิดที่รุนแรงขึ้นจนทำให้กลุ่มพลาสมาเหล่านี้มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงมาก เราเรียกกลุ่มพลาสมาเหล่านี้ว่า “พายุสุริยะ” (Solar Storm) การปลดปล่อยมวลโคโรนาจนทำให้เกิดพายุสุริยะจะมีความสัมพันธ์วัฏจักรของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีวงจรประมาณ 11 ปี เมื่อดวงอาทิตย์มีจุดบนดวงอาทิตย์จำนวนมาก (Solar Maximum)

สนามแม่เหล็กบริเวณดังกล่าวก็เกิดความปั่นป่วน มีการสะสมพลังงานมากขึ้นจนถึงจุดวิกฤตทำให้เส้นแรงแม่เหล็กที่บิดพันกันเป็นเกลียวขาดออกจากกันและเกิดการปลดปล่อยมวลออกสู่อวกาศ ในทุกทิศทุกทาง ซึ่งความเร็วและรุนแรงของกลุ่มประจุไฟฟ้าพลังงานสูงจะขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงในการระเบิดหรือการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์เอง แต่ในกรณีวันที่ 22 เม.ย.นี้ ไม่พบรายงานที่ผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์

ขอให้ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง