ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อีอีซีไฟเขียวไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จ่อลงนามเอกชน มิ.ย.นี้

เศรษฐกิจ
13 พ.ค. 62
17:25
704
Logo Thai PBS
อีอีซีไฟเขียวไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จ่อลงนามเอกชน มิ.ย.นี้
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่มซีพีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ 28 พ.ค. ก่อนลงนามร่วม 15 มิ.ย.นี้

วันนี้ (13 พ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงาน โครงการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ บอร์ดอีอีซี เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างสัญญาโครงการร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี โดยคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ก่อนลงนามสัญญาในวันที่ 15 มิ.ย.2562

ส่วนกรณีปัญหาเรื่องเมืองการบิน นายคณิศ กล่าวว่า นายกฯ ยังสั่งการให้เร่งรัดโครงการประมูลพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ให้ทันตามกำหนดเวลาลงนามสัญญาภายในเดือน มิ.ย.นี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้กลุ่มซีพีร้องศาลปกครองขอรับการคุ้มครอง กรณีถูกตัดสิทธิ์การยื่นซองข้อเสนอเพราะมาช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ในทีโออาร์คือ 15.00 น.นั้น คณะกรรมการคัดเลือกยึดตามเวลาที่กำหนด แม้ขั้นตอนการปิดรับซองจะเสร็จสิ้นที่เวลา 18.00 น.

โดยหลังจากนี้จะให้เอกชนทั้ง 3 กลุ่มรวมถึงซีพี รวบรวมข้อมูลยื่นซองที่ 1 คือซองคุณสมบัติ ก่อนนัดวันยื่นซองที่ 2 คือซองเทคนิค ในช่วงสัปดาห์หน้า จากนั้นช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ จะเปิดให้ยื่นซองราคา อย่างไรก็ตามยืนยันว่าแม้จะรอฟังคำสั่งศาล แต่การประมูลยังดำเนินการต่อ ส่งผลต่อกรอบเวลาโครงการล่าช้าออกไป 1 เดือน

ชง ครม.เห็นชอบท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 พรุ่งนี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 ยัง ต้องเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) เรื่องวงเงิน ดอกเบี้ยและผลตอบแทน ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.)

ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 อยู่ระหว่างข้อเสนอกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ ที่ยื่นเข้ามาและรอการตัดสินจากศาลปกครอง กรณีกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วยบริษัทนทลิน จำกัด บริษัท พรีมารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท แอโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด และบริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นฟ้องให้มีสิทธิ์ร่วมประมูลหลังโดนตัดสิทธิ์เพราะเอกสารไม่ครบถ้วน ยืนยันว่ากระบวนการจะยังเดินหน้าต่อและเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ในเดือน มิ.ย.นี้

วรวุฒิ มาลา

วรวุฒิ มาลา

วรวุฒิ มาลา

จ่อเสนอโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานต่อ คกก.พีพีพี

สำหรับความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือ เอ็มอาร์โอ อยู่ในขั้นตอนการเจรจาระหว่างกลุ่มแอร์บัสที่ร่วมลงทุนกับการบินไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนและเสนอให้คณะกรรมการพีพีพีในเดือน มิ.ย.นี้ และจะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป ส่วนโครงการร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1.16 หมื่นล้านบาทนั้น การบินไทยอยู่ระหว่างเจรจากับแอร์บัส คาดว่าจะสามารถเห็นชอบแนวทางร่วมกันก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ บอร์ดพีพีพี ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การรถไฟฯ จะลงนามร่วมกับซีพี ในวันที่ 15 มิ.ย.ตามกรอบเวลาหรือไม่ จำเป็นจะต้องพิจารณาในเรื่องของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรายงานขั้นสุดท้าย ขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่ โดยคาดว่าพื้นที่แรกที่จะส่งมอบให้ได้คือพื้นที่ย่านมักกะสัน รวมถึงความพร้อมของซีพีด้วย แต่ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมก็สามารถลงนามตามกรอบเวลา พร้อมยืนยันว่าร่างสัญญาจะไม่มีการปรับแก้ เป็นไปตามที่อัยการสูงสุดพิจารณา

ส่วนความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์ของการรถไฟ โดยหลังจากนี้จะเชิญกลุ่มซีพีและผู้ดูแลงานก่อสร้างโครงการประชุมร่วมกับ รฟท.เพื่อกำหนดแผนแม่บทในการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ คาดว่าพื้นที่ที่สามารถส่งมอบได้ทันทีคือพื้นที่มักกะสัน 100 ไร่ และพื้นที่ศรีราชา ส่วนพื้นที่มักกะสันอีก 50 ไร่จะทยอยส่งมอบภายใน 5 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง