ประกาศออกมาแล้วสำหรับรายชื่อ 250 ส.ว.เฉพาะกาลชุดแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 และถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะในขณะที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนส.ส.สูงสุดคือ พรรคเพื่อไทย มีเก้าอี้ ส.ส.เพียง 136 ที่นั่ง ส่วนพรรคพลังประชารัฐ มี 115 ที่นั่ง และกำลังช่วงชิงกันจัดตั้งรัฐบาล รวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่คะแนนเสียงต่างกระจัดกระจาย และมีอยู่มากถึง 27 พรรค
ส.ว. 250 คน จึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะมีมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา (ส.ว.250 บวก ส.ส. 500) และเป็นคะแนนเสียงที่เป็นปึกแผ่นมากที่สุด เนื่องจากมีที่มาจากที่เดียวกันคือ ถูกคัดเลือกและกลั่นกรองโดย คสช.ทั้งหมด
ภารกิจสำคัญหมายเลข 1 ที่กำลังรอ ส.ว.ชุดนี้อยู่ก็คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่บัญญัติไว้ มาตรา 272 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 60 ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมกันกับ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯ ผ่านที่ประชุมร่วมรัฐสภา
ความพิเศษของ ส.ว.ชุดนี้ จึงสำคัญต่อการเมืองในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังมีการผ่องถ่ายอำนาจจาก คสช.สู่ระบอบรัฐสภา
1. ร่วมโหวตนายกฯ
2. เปิดช่องทางให้มีนายกฯ คนนอกได้ ร่วมโหวตงดเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรค
ทั้งนี้ มติเห็นชอบเลือกนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (376 จาก 750 คน) ก็หมายความว่า หากคุมเสียง ส.ว.เอาไว้ได้ทั้ง 250 เสียง พรรคการเมืองที่ตั้งรัฐบาลก็ต้องการจำนวนเสียง ส.ส.อีกเพียง 126 เสียงเท่านั้น ก็จะเอาชนะในการโหวตเลือกนายกฯ ในสภาได้
ตัวเลข 126 คือเหตุผลสำคัญที่ พลังประชารัฐ ซึ่งมี 115 เสียง รีบรวบหัวรวบหางพรรคเล็กที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค 1 ที่นั่ง รวม 11 พรรค มาทำสัญญาประชาคม หนุนพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล เพราะแค่ พปชร. 115 บวก 11 พรรคเล็ก ก็ได้ 126 เสียงพอดี
เปิดช่องเลือกนายกฯ คนนอก
ส่วนการเปิดช่องเลือกนายกฯ คนนอกนั้น มาตรา 272 ก็กำหนดไว้ว่า หากหลังการเลือกตั้งรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งได้เลย โดยให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จากจำนวนเต็ม 750 คน ลงมติเพื่อเปิดทางให้เสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมือง ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
ดังนั้น หากจะเปิดช่องเลือกนายกฯ คนนอก ส.ว.ทั้ง 250 คน ก็จะเป็นฐานเสียงสำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อมาลงมติร่วมกับ ส.ส.อีก 251 คน ในการเปิดทางให้เลือกนายกฯ คนนอก
ที่พิเศษยิ่งกว่า คือ ส.ว.ชุดแรก ที่มาตามบทเฉพาะกาลมีวาระการดำรงตำแหน่งมากถึง 5 ปี (ในขณะที่บทบัญญัติทั่วไป กำหนดวาระ ส.ว.ไว้แค่ 4 ปี) ดังนั้น ส.ว.ชุดสุดพิเศษนี้จึงมีบทบาทสำคัญเพราะจะได้ร่วมเลือกนายกฯ อย่างน้อย 2 ครั้ง
ยังไม่นับรวม “ความพิเศษ” เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับ ส.ว.ชุดเฉพาะกาลนี้ เช่น ส.ว.ตามบทบัญญัติทั่วไป จะมีแค่ 200 คน แต่ชุดเฉพาะกาลมี 250 คน ขณะที่ ส.ว.ในภาวะปกติ จะมีความเคร่งครัดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แต่ ส.ว.เฉพาะกาล เพิ่งออกจากรัฐมนตรีและ สนช.ก็มาดำรงตำแหน่ง ส.ว.ได้เลย เป็นต้น
ความพิเศษของ ส.ว. 250 คน จึงไม่ได้ส่งผลเฉพาะตัว ส.ว.เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเมืองในภาพรวมและการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตอีกด้วย