ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจากประเทศลาว เดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลมุกดาหาร เฉลี่ยวันละประมาณ 20 คน
นายราวิท พิมพ์ศรี หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองมุกดาหาร กล่าวว่า ช่วงนี้มีการระบาดของไข้เลือดออกทั้งฝั่งไทยฝั่งลาว ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เดินทางผ่านท่าเทียบเรือ ตรวจคัดกรองเป็นพิเศษ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาล ที่มีห้องปฏิบัติการตรวจโรคไข้เลือดออก
มีการตรวจร่างกาย และหากพบประวัติมีไข้สูงกินยาไม่ลดให้สงสัยไว้ก่อนเป็นไข้เลือดออก ก่อนจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาล
ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ ได้รับแจ้งว่า ประเทศลาวประกาศเตือนเฝ้าระวังไข้เลือดออกทั่วประเทศ หลังพบผู้ป่วยกว่า 11,000 คน และเสียชีวิตแล้ว 27 คน จึงเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรอง เนื่องจากปกติก็จะมีผู้ป่วยโรคต่างๆ เดินทางเข้ามารับการรักษาอยู่แล้ว นอกจาก จ.มุกดาหาร จ.หนองคาย ก็มีชาวลาวเข้ามารับการรักษาโรคไข้เลือดออก ด้วยเช่นกัน
นายก๊อปปี้ ไซยะแสน ชาวลาว กล่าวว่า ในหมู่บ้านมีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนมาก เมื่อพบว่าตัวเองมีไข้จึงรีบมาตรวจ และส่วนใหญ่ผู้ที่เดินทางมารักษาที่ประเทศไทยคือผู้ที่มีอาการหนัก
เพจเฟซบุ๊ก สำนักข่าวเอบีซีลาว เผยแพร่ข่าวการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในประเทศลาว และประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศ ฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยกว่า 83,000 คน เสียชีวิต 354 คน เวียดนามมีผู้ป่วยกว่า 80,000 คน เสียชีวิต 4 คน กัมพูชามีผู้ป่วย 13,000 คน เสียชีวิต 24 คน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ของประเทศลาวมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคอย่างใกล้ชิด
สกัดไข้เลือดออกผ่านแดน
เช่นเดียวกับที่ จ.อุดรธานี พบมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกชาวลาวจากนครหลวงเวียงจันทน์ ที่มีอาการรุนแรง เกล็ดเลือดต่ำ ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาล เฉพาะเดือน ก.ค. มีผู้ป่วยอาการรุนแรงถึง 16 คน สะท้อนว่ามีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น และอาจยังไม่มีการมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น
พญ.ผกามาศ จันทร์เทพย์ รอง ผอ.แพทย์ เครือ รพ.วัฒนา กล่าวว่า ไทยอยู่กับไข้เลือดออกมานาน เรามีมาตรการในการป้องกันยุงลาย แต่ฝั่งเพื่อนบ้านอาจยังมีความตื่นตัวในเรื่องนี้น้อยกว่ามาตรการอาจจะไม่เข้มข้นเท่า
นอกจากนี้ที่ จ.หนองคาย และมุกดาหารที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจากประเทศลาว ทยอยเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคไขเลือดออกถือเป็นปัญหาสาธารณะสุขในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ละปีพบผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 200,000 คน สาเหตุส่วนหนึ่งคือ มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ยุงลาย ขณะที่แพทย์ตั้งข้อสังเกตว่าภาวะโลกร้อน ทำให้ยุงแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น อาจเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง