วานนี้ (22 ก.ค.2562) องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ประสบความสำเร็จในภารกิจปล่อย "จันทรายาน-2" เพื่อไปปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ โดยได้มีการปล่อยจรวดนำส่งเมื่อเวลา 14.43 น. ตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางการโห่ร้องยินดีของผู้คนที่ชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และบนสื่อสังคมออนไลน์ หลังต้องยกเลิกกำหนดการปล่อยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากพบปัญหาทางเทคนิค ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมจรวดขนส่ง
จันทรายาน-2 จะเข้าสู่วงโคจรของโลก และเคลื่อนที่อยู่นาน 23 วัน ก่อนจะเริ่มเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งหากจันทรายาน-2 สามารถลงจอดบนผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ จะทำให้อินเดียเป็นประเทศที่ 4 ของโลก หลังสหภาพโซเวียตส่งยานลูนา 2 ไปลงจอดที่ดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของโลก ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะส่งยานอพอลโล 11 พร้อมนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ได้ในปี 2512 และยานฉางเอ๋อ 4 ของจีนที่ได้ลงจอดด้านไกลสุดของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ภาพ : Indian Space Research Organisation
ขณะที่จรวด GSLV-Mk-III ซึ่งเป็นจรวดนำส่งจันทรายาน-2 มีน้ำหนักราว 640 ตัน ความยาว 44 เมตร หรือสูงกว่าอาคาร 15 ชั้น เรียกได้ว่าเป็นจรวดที่มีน้ำหนักมากที่สุดและใหญ่ที่สุดของอินเดีย อีกทั้งมีความสามารถในการปล่อยดาวเทียมที่มีน้ำหนักมากถึง 4 ตัน
ภาพ : Indian Space Research Organisation
ทั้งนี้ ภารกิจ "จันทรายาน-2" เน้นการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อค้นหาแหล่งน้ำ แร่ธาตุ และตรวจวัดแผ่นดินไหว ซึ่งจะเน้นการสำรวจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แทบไม่เคยได้รับการสำรวจมาก่อน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อินเดียแจ้งเลื่อนยิงจรวดส่ง "จันทรายาน-2" ไปดวงจันทร์