วันนี้ (6 ส.ค.2562) นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์แล้งฝนทิ้งช่วง ปี 2562 เพื่อสำรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งทุกจังหวัด และจัดทำสถานการณ์พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เสียหายผ่านระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร
จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ค.2562 ด้านสถานการณ์พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย พบว่ามีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 86,552,108 ไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูกแล้ว 72,750,126 ไร่ หรือ ร้อยละ 84 พื้นที่ยังไม่เพาะปลูก 13,801,983 ไร่ ร้อยละ 16
สำหรับพื้นที่เพาะปลูกแล้วเสียหายสิ้นเชิง จำนวน 229,648 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 156,881 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 62,817 ไร่ มันสำปะหลัง 8,621 ไร่ และอ้อยโรงงาน 1,329 ไร่
ขณะนี้มีจังหวัดที่พื้นที่การเกษตรเสียหาย และประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี และชัยภูมิ
โดยระยะเร่งด่วนกรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรให้เกษตรกรในพื้นที่ ส่วนระยะกลาง ระยะยาว เน้นสร้างการรับรู้ให้แนะนำการดูแลรักษาพืช การจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่สวนไม้ผล จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร บ่อบาดาล ปรับระบบการเกษตรโดยสร้างแหล่งน้ำในไร่นาตามศาสตร์พระราชาและเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูฝนถึงฤดูแล้ง
ในส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากแล้งหรือฝนทิ้งช่วงปีนี้ โดยยึดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง และการประกันภัยพืชผลสำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งได้ซื้อประกันภัยไว้แล้ว สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้งและฝนทิ้งช่วงต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย และจะช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เสียหายจริง