วันนี้ (9 ส.ค.2562) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนทางเลือก เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส.เตรียมส่งมอบกัญชาแห้งของกลาง 700 กิโลกรัมภายในสัปดาห์หน้า และจะทยอยส่งเพิ่มอีก 300 กิโลกรัมรวมเป็น 1,000 กิโลกรัม เพื่อจัดเตรียมทำน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี
โดยวันนี้ ได้เชิญทีมนายเดชา เข้ามาหารือเพื่อนำของกลางมาปรุงยาสูตรตำรับเดชาให้ได้ใกล้เคียง หรือนายเดชายอมรับได้ รวมทั้งหารือถึงข้อมูลผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของนายเดชากว่า 40,000 คน และข้อห้ามใช้และการจ่ายยาผู้ป่วย ซึ่งกัญชาของกลางที่จาก ป.ป.ส. เป็นกัญชาที่ไม่มียาฆ่าแมลง แต่ปนเปื้อนโลหะหนัก จะใช้วิธีสกัดเอาสารสกัดกัญชาออกจากสารแคดเมียมออก หรือเรียกว่าวิธี Supercritical Fluid
ซึ่งการผลิตน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา จะมีกองพัฒนายาไทยและสมุนไพรเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมกับจะติดตามผลรักษาจากแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์แผนปัจจุบัน อีกทั้งยังได้ขอข้อมูลผู้ป่วยของนายเดชา เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการในการกระจายยาน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชาด้วย
การผลิตน้ำมันกัญชาของนายเดชา จะเป็นรูปแบบทั้งแบบผงและแบบหยดขวดทึบแสง ลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตา เพราะน้ำมันกัญชาบางส่วนมีส่วนผสมของทีเอชซีรวมอยู่ด้วย และเมื่อโดนแสงจะทำให้คุณสมบัติของสารเปลี่ยนไป
นพ.มรุต กล่าวอีกว่าความคืบหน้าน้ำมันกัญชาในสูตรตำรับแพทย์แผนไทย จะเริ่มกระจายได้ในเดือนกันยายน ผ่านโรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านแพทย์แผนไทย 7 แห่งครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยโรคแบบแพทย์แผนไทย ผ่านแพทย์แผนไทย รวมทั้งติดตามผลการรักษาควบคู่กับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมียากัญชาสูตรตำรับไทย 16 ตำรับ ปัจจุบันเริ่มผลิตแล้ว 5 ตำรับ ดังนี้
- ยาศุขไสยาศน์
- ยาทำลายพระสุเมรุ
- ยาทัพยาธิคุณ
- ยาแก้สัณฑฆาต กร่อนแห้ง
- ยาไฟอาวุธ
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่ายากัญชาสูตรตำรับไทย ส่วนใหญ่มีสรรพคุณรักษาโรคแตกต่างกันไป โดยตำรับแผนไทยที่จะนำมาใช้กับผู้ป่วยได้ก่อน คือ ตำรับยาศุขไสยาศน์ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร นอนไม่หลับอ่อนเพลีย แก้อาการอาเจียนได้ในบางราย
สำหรับการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะการนำมาใช้รักษาผู้ป่วยแพทย์แผนไทยจะแตกต่างกับแผนปัจจุบัน โดยสามารถนำมาใช้ควบคู่กัน หรือเมื่อใช้แล้วค่อยๆ ลดปริมาณการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันลงหากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น