ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คมนาคมผุดแผนสร้าง "เลนจักรยาน" ถนนวิภาวดีรังสิต

สังคม
10 ส.ค. 62
19:34
7,052
Logo Thai PBS
คมนาคมผุดแผนสร้าง "เลนจักรยาน" ถนนวิภาวดีรังสิต
กระทรวงคมนาคมวางแผนสร้างเลนจักรยาน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชื่อมโยงรถไฟฟ้าที่กำลังจะเปิดให้บริการ ขณะที่ปัญหาอย่างการระบายน้ำไม่ทันจนการจราจรติดขัด กรมทางหลวงจะเข้ามารับผิดชอบทั้งการติดตั้งสถานีสูบน้ำ ลอกคูคลอง เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร

วันนี้ (10 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงฤดูฝนที่มักพบปัญหาการะบายน้ำท่วมขังไม่ทันการณ์ จนส่งผลกระทบกับผู้สัญจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งกรมทางหลวง รายงานว่า มีข้อมูลการสัญจรทั้งบนถนนวิภาวดีรังสิต และทางยกระดับโทลเวย์ เฉลี่ยวันละ 300,000 คัน ทำให้ขณะนี้กรมทางหลวงมีแผนงานจะรับผิดชอบเอง ทั้งการติดตั้งสถานีสูบน้ำ ลอกคูคลอง สร้างเลนจักรยาน และปรับปรุงภูมิทัศน์ริมถนนวิภาวดีรังสิต เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยทั้งหมดจะเห็นภาพการปรับโฉมใหม่ภายในต้นปี 2565

แผนงานนี้ ได้รายงานต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระหว่างลงพื้นที่ติดตามแผนงานพัฒนาคู ที่สำนักงานทางหลวงที่ 13 กรุงเทพมหานคร ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ปัญหาใหญ่ที่นายมนตรี เดชาสกุลสม ผอ.สำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพฯ) รายงานคือ คูน้ำตลอด 2 ข้างทางถนนวิภาวดีรังสิต ไม่สามารถระบายได้ทันในช่วงที่เกิดวิกฤตฝนตกหนัก ทำให้การจราจรซึ่งมีจำนวนรถยนต์มากอยู่แล้ว ยิ่งเกิดปัญหารถติดขัดสะสมเพิ่มเติม  

 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต มีทั้งหมด 2 ระยะ เชื่อมต่อระหว่างถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน ระหว่าง กม.4+490 - กม.28+700 แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ดำเนินการเสร็จแล้ว (แผนงานตามสัญญา 13 ก.ค.2561 สิ้นสุด 9 มี.ค. 2562) ได้แก่ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 18 ตัว, งานดันท่อลอด 8 จุด, งานลอกท่อดูดเลน ระยะทาง 73,965 เมตร งานขยายท่อทางเชื่อม จำนวน 8 แห่ง และงานปรับปรุงผิวจราจร  126,921 ตารางเมตร ระหว่าง กม.11+300 - กม.15+100 (ฝั่งขาออก) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างส่งมอบงาน

ส่วนระยะที่ 2 อยู่ระหว่างที่บริษัทรับเหมาลงพื้นที่เก็บรายละเอียดข้อมูล และเตรียมประชุมเพื่อรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคในสัปดาห์หน้า จะแบ่งออกเป็น 3 ตอน มีผู้รับเหมา 3 บริษัท เนื่องจากงานมีความเกี่ยวเนื่องตามเส้นทางถนนวิภาวดีรังสิต เกือบ 30 กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องแบ่งให้ผู้รับเหมาดำเนินการเพื่องานจะได้เสร็จตามกำหนด หรือเร็วมากขึ้น มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ กม.4+990 - กม.31+475 อยู่ในช่วงแยกดินแดง - คลองรังสิตประยูรศักดิ์ แบ่งเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.5+500 - กม.10+700 ใช้เวลาก่อสร้าง 900 วัน ตอนที่ 2 ระหว่าง กม.10+700 - กม.28+ 030 ใช้เวลาก่อสร้าง 900 วัน และตอนที่ 3 ระหว่าง กม.28+030 - กม.30+300 ใช้เวลาก่อสร้าง 720 วัน 

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า ได้กำชับให้กรมทางหลวง เข้มงวดกับการควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งระยะเวลานานเท่าใด ไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าอยู่ภายในสัญญาที่กำหนด และคิดว่าประชาชนจะเข้าใจ รวมถึงไม่ต้องการให้เกิดปัญหางานก่อสร้างล่าช้า หรือสร้างเสร็จแล้วต้องตามมาแก้งาน จึงขอให้กรมทางหลวงกำกับดูแลตั้งแต่กระบวนการเริ่มงาน รวมถึงการวางแผนดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง เช่น ใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงสำหรับอุปกรณ์หนักและเครื่องจักร เพราะมีพื้นที่ชุมชนอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตและถนนพหลโยธิน รวมถึงวางแนวเขตกั้นพื้นที่ก่อสร้างที่ชัดเจน เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น 

โครงการนี้เสร็จ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมบนถนนวิภาวดีรังสิต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณคูตามแนวถนน ที่ระบายน้ำลงสู่คลองบางเขน คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ ผ่านอุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อ เพื่อไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

นายศักดิ์สยาม ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานกับหน่วยงานนอกกระทรวงคมนาคม อย่างตำรวจ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง หรือการประปานครหลวง เกี่ยวกับขั้นตอนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โดยเน้นให้เปิดหน้างานเท่าที่จำเป็น ส่วนไหนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้างานและไม่จำเป็นต้องขนเครื่องจักรไปไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเหุตใดมีเครื่องจักรแล้วไม่ทำงาน ฉะนั้น จึงขอให้เปิดหน้างานในเฉพาะส่วนที่จะต้องทำในแต่ละสัปดาห์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสร็จโครงการ และขอให้หน่วยงานประชาสัมพันธ์กับประชาชนเมื่อเกิดปัญหาและให้รับเรื่องจากประชาชนมาเร่งแก้ไข 

 

ช่วงหนึ่ง รมว.คมนาคม และผู้บริหารกรมทางหลวง ลงพื้นที่ติดตามแผนงานที่เตรียมก่อสร้างช่องทางจักรยาน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ในแผนงานระยะที่ 2 ของโครงการพัฒนาคูคลองและปรับปรุงภูมิทัศน์ โดย ผอ.สำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพฯ) ระบุว่า การสร้างเลนจักรยานจะช่วยให้เชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างชุมชน ซี่งมีทั้งนักศึกษาและบุคคลากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงแยกรัชโยธินและถนนตัดใหม่ ช่วงสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีชุมชนและยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ด้วย 

สำหรับแผนงานช่องทางจักรยานจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 และใช้งานได้ในปี 2565 โดยหวังว่าช่องทางจักรยานดังกล่าว กรมทางหลวงต้องการให้ผู้ใช้จักรยานได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง และขอความร่วมมือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ห้ามวิ่งในเส้นทางจักรยาน และขอความร่วมมือร้านค้าห้ามตั้งแผงค้าขายในช่องทางจักรยาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง