ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 "ถอดบทเรียนหมอกควัน" ภาคเหนือ

ภูมิภาค
14 ส.ค. 62
13:15
318
Logo Thai PBS
สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 "ถอดบทเรียนหมอกควัน" ภาคเหนือ
สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ ที่ดูแล 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีการประชุมเพื่อถอดบทเรียนเตรียมการวางแผนหมอกควันที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้ลดการเผา

เมื่อวานนี้ (13ส.ค.62) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการ เขตสุขภาพที่ 1 ระบุว่า วัตถุประสงค์ของการเตรียมการครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลความรู้ป้องกันกลุ่มเสี่ยง โดยประชุมวางแผนที่จะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาควิชาการช่วยลดผลกระทบ แนวทางการจัดกิจกรรม จะใช้ อสม. และ รพสต. เป็นกลไกหลักการสื่อสาร และกระตุ้นเตือนดูแลสุขภาพ และโดยเฉพาะลดสาเหตุของการเผา

"ข้อมูลการแจ้งเตือนต้องอาศัย ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษเป็นหลัก เพราะสาธารณสุขไม่มีบทบาทตรงนั้น การดูแลอากาศเป็นหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เพียงตอนนี้ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ อาจต้องอาศัยข้อมูลภาควิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแนวทางการดูแลสุขภาพ ลดผลกระทบ"

รศ.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ Dust Boy ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล 25 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ปีนี้เตรียมขยายผลไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังจุดที่เกิดไฟป่า

"การเกิดมลพิษในเมือง และนอกเมืองต่างกัน ฝุ่นที่เกิดขึ้นไม่น่ากลัวเท่ากับสารเคมีซึ่งติดอยู่กับฝุ่น เราไม่รู้สารเคมีอะไรบ้าง เป็นสารก่อมะเร็ง หรือโลหะหนัก ทำให้เกิดโรคแตกต่างกัน"

ฝุ่นที่เกิดจากการเผา หรือ การจราจร อาจอันตรายแตกต่างกัน ต้องมีอุปกรณ์ที่จะต้องป้องกัน และข้อมูลให้รับทราบ ซึ่งทีมวิจัยวางแผนจะกระจายเครื่อง และมีเครื่องลดต้นทุน สำหรับวัดในเด็กระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย

นอกจากจะมีเครื่องวัดฝุ่น กำลังพัฒนา Fier boy คือเครื่องวัดไฟติดตั้งพื้นที่เป็นป่า โดยเฉพาะป่าที่อยู่ใกล้กับชุมชน ถ้าเกิดไฟป่าเซ็นเซอร์จะทำงาน ก่อนไฟไหม้จะส่งข้อมูลภาพกลับมาว่าไฟไหม้ที่ไหน ซึ่งจะดีกว่าใช้ข้อมูลจากดาวเทียมอย่างเดียว

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่าง ปัจจุบันการสื่อสารไปยังประชาชน มีเพียงข้อมูลตัวเลขเพียงอย่างเดียว ตอนนี้เริ่มทำระบบติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ส่งภาพกลับมาทุก 10 นาที จุดที่ติดตั้ง Dust Boy เพื่อจะเป็นข้อมูลหนึ่งในการยืนยันสภาพอากาศแจ้งเตือนประชาชนให้เกิดความตระหนักถึงมลพิษทางอากาศ

รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ผลกระทบจากฝุ่นควันในภาคเหนือที่ผ่านมา จากการสำรวจข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงมลพิษอากาศสูงขึ้นมาตรฐานวัดองค์การอนามัยโลก 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในภาวะปกติ 25-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน ถ้าเป็น 50-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีผู้เสียชีวิต เพิ่ม 4 คน แต่ถ้าเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป จะเสียชีวิตเพิ่มเป็น 6 คน

"ถ้าวัดใช้มาตรฐานวัดของ PM 2.5 ที่ระดับ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดต่างจากองค์การอนามัยโลกกำหนด 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คนไข้ที่เสียชีวิต 2 คน จะถูกละเลยคิดว่าไม่ได้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจริงๆ"

ดังนั้นการแจ้งเตือนควรใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกเป็นหลัก หรืออย่างน้อยควรใช้เกณฑ์ของสหรัฐอเมริกาที่ตั้ง 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลต่อสุขภาพผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง ส่วนข้อมูลการเสียชีวิตประชากรในภาคเหนือเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ข้อมูลของ Air Quality Life Index หรือ AQLI และสำรวจดาวเทียมของสหรัฐฯ เปรียบเทียบการเสียชีวิตทั่วประเทศของคนไทย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ปี ถ้าดูเฉพาะภาคเหนือจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3-5 ปีเร็วขึ้น

 

ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ รายงานค่าระดับ PM 2.5 รายปี ประจำปี 2561 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมากกว่า 150,000 คน สำหรับการแก้ปัญหาที่ผ่านมานอกจากมาตรการบังคับใช้กฎหมายห้ามเผา การแจกหน้ากากอนามัย N95 และการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ ภาควิชาการนอกจากเพิ่มจุดวัดคุณภาพอากาศ ยังเตรียมร่วมมือกับหลายหน่วยงานขยายสร้างพื้นที่อากาศปลอดภัยไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 200 แห่ง และในศูนย์การเรียนรู้นอกโรงเรียนอีก 100 แห่ง เพื่อเตรียมรับมือปัญหาฝุ่นควันในปีนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง