วันนี้ (15 ส.ค.2562) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะลดภาษีสรรพสามิตยาเส้นลงตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ที่ปัจจุบันที่จัดเก็บภาษี 0.1 บาทต่อกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.005 บาทต่อกรัม เนื่องจากการขึ้นภาษียาเส้นกรมสรรพสามิตได้ศึกษาอย่างรอบคอบและเตรียมการมาหลายปีแล้ว และภาษีที่ขึ้นไป เพียงแต่ส่งผลให้ราคาขายปลีกยาเส้นเพิ่มขึ้น ซองละ 2 บาท จากเดิม 10 เป็น 12 บาท หรือซองเล็กจาก 5 บาทเป็น 7 บาท ยาเส้นหลายยี่ห้อราคาขายปลีกก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยด้วยซ้ำ แสดงถึงว่าภาษีที่ขึ้นจัดว่าน้อยมาก
ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว ชาวไร่ยาสูบไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะส่งผลกระทบต่อพ่อค้าคนกลางที่ขายยาเส้น ที่สำคัญคนไทยที่สูบบุหรี่ยาเส้น มีเกือบ 5 ล้านคน ซึ่งมาตรการภาษีเป็นการป้องกันและทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง รัฐบาลต้องรู้ว่าทุกวันนี้ มีคนไทยมากกว่า 1 ล้านคนที่ป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แม้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรค ซึ่งรัฐบาลต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากบุหรี่แต่ละปีเป็นมูลค่ามหาศาล สูงกว่ารายได้จากภาษีที่รัฐจัดเก็บได้
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า การจัดการปัญหาเรื่องยาสูบ มี 2 ด้าน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเลือกด้านไหน ระหว่างรัฐบาลอยากปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยสนับสนุนให้คนสูบบุหรี่น้อยลง ลดคนที่จะป่วยจากโรคที่เกิดจากสูบหรี่ ลดค่าใช้จ่ายงบประมาณการรักษาพยาบาล ลดความแออัดของระบบบริการ นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่รัฐบาลต้องอุดหนุนทั้งผู้ป่วยบัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศด้วย หรือรัฐบาลจะเอาใจพ่อค้าคนกลางที่มักจะอ้างชาวไร่ยาสูบบังหน้า โดยลดภาษี ชะลอการขึ้นภาษี โดยไม่สนใจสุขภาพของประชาชน ซึ่งหากเลือกอย่างหลัง แล้วคนไทยจะสูบบุหรี่ลดลงได้อย่างไร คนเจ็บป่วยจะน้อยลงได้อย่างไร
หากจะแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนจากการที่คนสูบบุหรี่ลดลงจากการขึ้นภาษี สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทน หรือทำอาชีพอื่น ไม่ใช่กลับไปลดภาษีหรือชะลอการขึ้นภาษียาสูบ ตามคำเรียกร้องของบริษัทบุหรี่