ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"น้าเน็ก" ปรับตัวจากทีวีสู้ศึกออนไลน์ ใช้คำว่า "หนีตาย" ขายสื่อสร้างสรรค์

Logo Thai PBS
"น้าเน็ก" ปรับตัวจากทีวีสู้ศึกออนไลน์ ใช้คำว่า "หนีตาย" ขายสื่อสร้างสรรค์
ต่อให้สะสมชั่วโมงบินแค่ไหนในงานพิธีกรหน้าจอ ไม่ได้ช่วยให้ น้าเน็ก ทำรายการออนไลน์ได้ปังตั้งแต่ต้น เมื่อสื่อเปลี่ยนก็ต้องเรียนรู้ใหม่ เป็นที่มาของรายการดัง “อย่าหาว่าน้าสอน” ที่ส่งให้ช่อง youtube ของน้าเน็ก มียอดชมรวมถึง 60 ล้านวิว สะท้อนการปรับตัวคนทีวี

ยิงมุกไม่ยั้งแต่วกกลับเข้าเนื้อหาได้อย่างลื่นไหล แซวแหลกจนแขกรับเชิญต้องเดาว่าจะโดนไม้ไหน คือลายเซ็นงานพิธีกรสไตล์ “น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” แต่ไม่น่าเชื่อว่าชั่วโมงบินสูง อยู่หน้าจอทีวีมา 17 ปี ไม่ได้ช่วยให้การหันมาทำสื่อออนไลน์ของน้าเน็ก ไปได้สวยตั้งแต่ต้น กว่าจะคิด Concept รายการดัง “อย่าหาว่าน้าสอน” จนมีผู้ชมหลักแสนทุกตอน ก็ลองผิดมาเยอะ นำประสบการณ์มาแชร์ในงานเสวนา TMF Thai Media Fund TALK ซึ่งเรื่องของน้าเน็กสะท้อนการปรับตัวของคนทำสื่อได้เป็นอย่างดี

ยุคทีวีดิจิทัล การแข่งขันสูง กำไรจากการขายโฆษณาลดลง แต่ต้นทุนเท่าเดิม เป็นปัญหาเดียวกันของผู้ผลิตสื่อ ซึ่งบริษัทของน้าเน็กได้กำไรไม่พอจ่ายเงินเดือนทีมงานด้วยซ้ำ นี่คือต้นเหตุให้ปีที่แล้วนี่เอง ที่น้าเน็กใช้คำว่า “หนีตาย” มาพึ่งออนไลน์ ผนวกกับงานพิธีกรที่ยังรับงานจ้างทั่วไป แต่แค่ออกสตาร์ทก็ไปผิดทาง เพราะการยกรูปแบบรายการทีวีมาลงออนไลน์ มีคนดูน้อยจนแทบถอดใจ จนกลางปี 2562 เพิ่งค้นพบว่าเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจไปได้สวย แต่ต้องนำเสนออย่างจริงใจไม่ซับซ้อน

เป็นที่มาของการอัดคลิปไลฟ์สดง่ายๆ ในครัว พัฒนาสู่รายการรับปรึกษาปัญหาชีวิต วันนี้รายการ “อย่าหาว่าน้าสอน” เป็นหนึ่งในคลิปที่ส่งให้ช่อง youtube NANAKE555 มียอดชมรวมถึง 64 ล้านวิวแล้ว แต่ที่ภูมิใจกว่าคือได้ทำคอนเท้นต์ที่ประโยชน์กับผู้คน

อย่างน้อยๆ งานในออนไลน์ ควรเป็นอะไรที่จะตอบแทนสู่สังคม ก็เลยกลายเป็นคอนเทนต์ที่เหมือน Life Coaching เหมือนตอบปัญหาชีวิต

พิธีกรดังยังได้รู้จักจริตของการทำสื่อใหม่ "ผมได้คำตอบทีหลัง ว่าออนไลน์คือะไรก็ตามที่ตรงข้ามกับทีวี นั่นหมายความว่าประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาใช้ไม่ได้เลย ทำคลิปในออนไลน์แค่มี title ก็ผิดแล้ว คนดูมีความรู้สึกเสียเวลา"

ส่วนการวางตัวเป็นน้า เป็นญาติผู้ใหญ่ หรือพี่สอนน้อง เป็นอีกสิ่งที่ น้าเน็ก ทำการบ้านหลังเรียนรู้ความชอบของชาวเน็ต หากความเป็นกันเอง บางครั้งก็ตามมาด้วยการใช้คำบ้านๆ คำหยาบ ที่น้าเน็กยอมรับว่าไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งต่อคลิป ทำให้เกิดคำถามว่าคอนเทนต์ออนไลน์ที่ไร้การควบคุมนั้นอิสระเกินไปหรือไม่ เหมือนข่าวดราม่า Youtuber ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งมีให้เห็นบ่อยๆ

น้าเน็ก มองว่า อาจเป็นเพราะออนไลน์อนุญาตให้เราพูดอะไรก็ได้ค่อนข้างเสรี มีข้อดีข้อเสีย แต่เดี๋ยวนี้อะไรไม่ถูกไม่ควรก็ได้เสียงสะท้อนกลับจากชาวเน็ต ที่ไม่ได้แค่เสพ แต่ช่วยตรวจสอบอีกทาง

ผมรักผู้คนในออนไลน์อย่างหนึ่งตรงที่ว่า เค้ากระตือรือร้น ตรวจสอบสิ่งที่เค้าดู อันไหนดีเค้าชื่นชม อันไหนไม่ดีเค้าก็จะถ่มถุยถล่มด่าเลย ชาวเน็ตจวกยับ มันเป็นการบอกถึงคนที่ทำสื่อทุกคนว่า เฮ้ย คนดู หลอกเค้าไม่ได้นะ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นผู้จัดงาน TALK ของคนทำสื่อครั้งนี้ขึ้น นอกจากน้าเน็ก ยังได้เจ้าของเพจเลี้ยงลูก Little Monster และครูลี่ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด ว่าสื่อมีพลังขับเคลื่อนสังคมแค่ไหน หากถูกใช้ในทางสร้างสรรค์ คลิกที่นี่เพื่อชมไลฟ์งานเสวนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง