วันนี้ (5 พ.ย.2562) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า บางพื้นที่ของประเทศในช่วงนี้ยังมีฝนตก ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงเตือนประชาชนให้ระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด เพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคติดต่อโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งช่วงนี้พบผู้ป่วยประปรายในบางพื้นที่ ไม่พบกลุ่มก้อนการระบาดและไม่มีผู้เสียชีวิต โดยอาการของโรค จะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หรือมีไข้เล็กน้อย และจะมีผื่นแดงขึ้นที่ลำตัว แขน ขา จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง บริเวณดวงตามีอาการอักเสบของเยื่อบุตา และมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งอาการดังกล่าวจะทุเลาลงภายใน 2-7 วัน จึงขอให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
นพ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มียารักษา และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโดยเฉพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ หากมีไข้ควรเช็ดตัวให้ไข้ลด หรือให้ยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ทั้งนี้ ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น
แนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค
นอกจากนี้ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ดังนี้
- เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถาง หรือแจกันทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่