ย้อนดูกระแสเรียกร้องผ้าอนามัยแพง
ประเด็นผ้าอนามัยแพงกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ถึง 2 ครั้งในรอบปี ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค.2562 มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งทวีตว่า “ราคาผ้าอนามัยเนี่ย เป็นอีกอย่างที่รู้สึกว่ามันเศร้า เราเคยมีช่วงที่ไม่มีเงินจะกินข้าวแล้วอะ แต่ต้องเจียดเงินเกือบร้อยไปซื้อผ้าอนามัย แล้วลองคิดถึงคนที่เขาเจอปัญหาแบบนี้ตลอดเวลาดิ น่าเห็นใจนะ มี 2 ทางคือ อดข้าว หรือ ใช้ผ้าอย่างอื่นแทน ซึ่งก็ไม่สะอาดและทำให้ไม่สะดวกกับการใช้ชีวิต” กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคาผ้าอนามัยแพงและภาระทางกลไกร่างกายที่ผู้หญิงต้องแบกรับในแต่ละเดือน
จากงานวิจัยการมีประจำเดือนและประจำเดือนในนักกีฬาสตรี ของ รศ.พรรณพิไล ศรีอาภรณ์ อาจารย์ประจําภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ประจำเดือนคือเลือดที่ไหลออกจากโพรงมดลูกพร้อมเยื่อบุโพรงมดลูกที่ตายแล้วของสตรีทุก 21 - 36 วัน ครั้งละ 3 - 5 วัน ปริมาณเลือดที่ออกมาครั้งละ 30 - 100 มิลลิลิตร โดยผู้หญิงจะใช้ผ้าอนามัยซับเลือด 3 - 4 ชิ้นต่อวัน
งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงใช้ผ้าอนามัยต่อวันจำนวนมากและเมื่อคำนวณพบว่า ผู้หญิงใช้ผ้าอนามัยประมาณ 20 ชิ้นต่อเดือน และ 240 ชิ้นต่อปี
ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงพื้นที่สำรวจราคาผ้าอนามัยในร้านสะดวกซื้อพบว่า ราคาผ้าอนามัยแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับรูปแบบ และลักษณะพิเศษเฉพาะที่ตอบโจทย์ปัญหาของประจำเดือน เช่น ความบาง, กลิ่นหอมพิเศษ, ความเย็น, เทคโนโลยีการระบายกลิ่นอับ, ลวดลาย, มีปีก/ไม่มีปีก, คุณสมบัติถนอมจุดซ่อนเร้น เป็นต้น คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ราคาผ้าอนามัยสูงขึ้นตามไปด้วยผ้าอนามัยสำหรับกลางวัน ราคาเฉลี่ย 2-5 บาท/ชิ้น ,ผ้าอนามัยสำหรับกลางคืน ราคาเฉลี่ย 4-10 บาท/ชิ้น และแผ่นอนามัย ราคาเฉลี่ย 2-3 บาท/ชิ้น ผ้าอนามัยชนิดสอด ราคาเฉลี่ย 8-10 บาท/ชิ้น ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายของผ้าอนามัยตลอดชีวิตที่ผู้หญิงต้องแบกรับอาจสูงถึง 40,000 บาท
ผ้าอนามัยแพงในกระแสโลก
ปัจจุบันในหลายประเทศจัดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเป็นที่ยกเว้นการเก็บภาษีเพราะได้รับการผลักดันให้เป็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศให้ผู้หญิงไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากประจำเดือนที่เป็นกลไกทางร่างกายตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงสินค้าจำเป็นนี้ในกลุ่มสตรีผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย ผ้าอนามัยถูกจัดอยู่ใน “ภาษีสีชมพู (Pink Tax)” คือ ค่าใช้จ่ายที่ผู้หญิงต้องจ่ายสูงกว่าผู้ชาย ในขณะที่หลายๆ ประเทศยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย เพราะ ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐมอบให้ประชาชน ประเทศที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ได้แก่ เคนนาดา, เยอรมัน, ออสเตรเลีย, อินเดีย, เคนยา, อังกฤษ, สเปน และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ประเทศไทยความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้อาจไม่ได้รับความเข้าใจ และการส่งเสียงถึงผลกระทบที่อาจไม่ดังพอ จึงเป็นน่าตั้งคำถามว่าในกรณีของผู้มีรายได้น้อย หรือครอบครัวที่มีผู้หญิงหลายคนที่พึ่งพาค่าแรงขั้นต่ำต้องแบกรับภาระรายจ่ายนี้อย่างไร และมีโอกาสหรือไม่ที่ภาษีผ้าอนามัยของไทยจะได้รับการผลักดันให้ปลอดภาษีเหมือนต่างประเทศ
ทิพากร ไชยประสิทธิ์