วันนี้ (19 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมผู้ขับขี่แท็กซี่ 4.0 และชมรมแท็กซี่ไทยพัฒนาได้เดินทางมาที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พร้อมเครือข่ายผู้ขับรถแท็กซี่ที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้ายื่นหนังสือถึงนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอให้ผลักดันให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันให้ถูกกฎหมาย โดยมีนายธีระพงศ์ งามเอก ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งผู้โดยสาร เป็นผู้รับหนังสือ
นายจิรภัทร โสภาลัย ประธานเครือข่ายผู้ขับแท็กซี่จากชมรมผู้ขับขี่แท็กซี่ 4.0 กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายผู้ขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 500-1,000 คัน และเครือข่ายทั่วประเทศอีก 80,000 คัน ยินดีสนับสนุนและผลักดันจากภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน สามารถดำเนินได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะมีประโยชน์หลายอย่าง
โดยมองว่า 1.ยกระดับและส่งเสริมให้ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะในประเทศไทยก้าวหน้า และรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จากที่ต้องขับรถเพื่อวนหาผู้โดยสาร การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้โดยสารเรียกหารถโดยสารได้โดยตรง ทำให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้โดยสารและช่วยผู้ขับขี่ลดต้นทุนการขับหาผู้โดยสารอย่างไร้จุดหมาย
2.ช่วยให้ผู้ใช้บริการแท็กซี่มีรายได้เสริมจุนเจือครอบครัว รวมทั้งจากค่าตอบแทน โบนัสและสิทธิประโยชน์อื่นๆ 3.ให้เกิดความเท่าเทียม เพราะการให้บริการผ่านแอปฯ ถูกกฎหมายทำให้ผู้ให้บริการสาธารณะแบบไม่ประจำทางทุกคันอยู่ภายใต้ระเบียบเดียวกัน โดยไม่มีผู้ใดได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากผู้ให้บริการรถโดยสารส่วนบุคคลปัจจุบันต้องปฏิบัติตามระเบียบเดียวกันกับผู้ให้บริการแท็กซี่ด้วยกัน และ 4.ยกระดับคุณภาพความปลอดภัยของผู้โดยสารและคนขับ อย่างไรก็ตามหวังว่าการร่างกฎหมายรถสาธารณะให้บริการผ่านแอปฯ จะผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบายแนวทางดำเนินการไว้
ด้านนายกมลาสน์ กุลบันลือพิชญ์ ประธานชมรมแท็กซี่ไทยพัฒนา กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง สามารถอยู่ได้ทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งที่ผู้ให้บริการแท็กซี่ในระบบปัจจุบันและผู้ให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปฯ ด้วย อย่างไรก็ตามถ้ามีกฎหกมายให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน ถูกกฎหมายแล้วก็ขอให้ตระหนักถึงกลุ่มผู้โดยสารที่ใช้บริการที่ยังไม่เข้าถึงแอปแอปพลิเคชัน ด้วย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าหากเจอโบกเรียกให้รับส่งผู้โดยสารกลุ่มนี้ด้วย โดยไม่ต้องเน้นให้บริการผ่านแอปฯ อย่างเดียว เพื่อให้บริการทุกกลุ่มคนให้เท่าเทียมกัน
ปัจจุบันเครือข่ายที่ให้บริการแท็กซี่ผ่านแอพฯ ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าเรียกเพิ่ม 20 บาท นอกเหนือจากค่าโดยสาร โดยให้บริการผ่านแอปฯ ที่หลากหลายและได้รับความนิยม เช่น ไลน์แมน และแกร็บ (Grab)