ภัยแล้งปีนี้มาเร็ว จากเดิมเกิดในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ทำให้หลายพื้นที่ถูกกระทบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ชาวบ้านหลายจังหวัดไม่มีน้ำทำการเกษตร ต่อมาช่วงปลายเดือนธันวาคม เริ่มส่งสัญญาณมาถึงพื้นที่ใน กทม. และปริมณฑล คือ น้ำประปามีรสชาติกร่อย ทั้งสองเหตุการณ์นี้ มีความเกี่ยวข้องกัน
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า เกิดจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้มีน้ำเค็มผ่านเข้าในระบบผลิตน้ำของการประปานครหลวง ปัจจัยมาจากสถานการณ์น้ำแล้ง ส่งผลให้ต้นทุนน้ำจืดที่ใช้ไล่น้ำทะเลมีน้อย เหตุการณ์ลักษณะนี้ หากเปรียบเทียบย้อนหลังปี 2558 เกิดขึ้นช่วงเดือน กรกฎาคม แต่ล่าสุดเกิดขึ้นเร็ว คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคม คาดว่าน้ำประปาจะเค็มต่อเนื่องไปถึงสิ้นเดือนมกราคม และอาจจะเกิดซ้ำช่วงเดือนกรกฎาคม
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.การศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต
กทม.และปริมณฑลอยู่เขตการประปานครหลวง ร้อยละ 80 ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีปัญหาน้ำเค็ม ส่วนร้อยละ 20 ใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ไม่มีปัญหา การประปานครหลวงพยายามใช้น้ำ ร้อยละ 20 มาเจือ ทำให้ความเค็มลดลง แต่ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด
แนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มีการคาดการณ์ว่าอีก 200 ปี ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงมาก เกิดน้ำแล้ง น้ำท่วม ควรมีแผนรับมือล่วงหน้า เสนอให้ย้ายสถานีสูบน้ำที่เสี่ยงถูกกระทบขึ้นทางตอนเหนือ เพราะน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น หรือ ควรใช้ระบบกรองแบบ Reverse Osmosis หรือ อาร์โอ ทั้งสอบแบบ มีค่าใช้จ่ายต้นทุนสูง รวมถึงภาครัฐควรตั้งคณะทำงานแบบเบ็ดเสร็จในแต่ละพื้นที่ที่ถูกกระทบ เพื่อสามารถเข้าถึงประชาชนและประสานงานได้สะดวก
ผมประเมินว่า 10 ปี จะขึ้นไปอีก 3-4 กิโลเมตร ลิ่มของความเค็มจะขึ้นไป เพราะน้ำทะเลสูงขึ้นและแผ่นดินทรุด หากย้ายสถานีสูบน้ำต้องหาจุดเหมาะสม และการใช้ระบบน้ำ อาร์โอ ค่าน้ำอย่างต่ำต้นทุน 30 บาทต่อลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เท่า