ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุรเชษฐ์ " ให้ข้อมูล ป.ป.ช."คดีไบโอเมทริกซ์ -รถตรวจการไฟฟ้า"

อาชญากรรม
10 ม.ค. 63
12:00
1,507
Logo Thai PBS
"สุรเชษฐ์ " ให้ข้อมูล ป.ป.ช."คดีไบโอเมทริกซ์ -รถตรวจการไฟฟ้า"
สำนักงานป.ป.ช.นัดหมายให้พ.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นพยานเข้าให้ข้อมูลกรณีจัดสร้างโครงการตรวจจับไบโอเมทริกซ์ และรถยนต์ตรวจการไฟฟ้าอัจฉริยะ วงเงินรวมกว่า 3,000ล้านบาท แต่ใช้งานไม่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (10 ม.ค.2563) พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เข้าพบคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้ข้อมูลในฐานะพยาน หลังจากนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลินิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อเยาวชนและสังคมร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการไบโอเมทริกซ์ วงเงินกว่า 2,100 ล้านบาท และโครงการรถสายตรวจไฟฟ้าอัจฉริยะ วงเงินกว่า เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์เปิดเผยว่า วันนี้มาให้ข้อมูลในฐานะพยาน และจะมีข้าราชการตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทยอยเข้าให้ข้อมูลอีกไม่ต่ำกว่า 40 - 50 คน ซึ่งก็พร้อมเป็นพยานในเรื่องนี้หลังจากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ พร้อมยืนยันว่าโครงการดังกล่าวผิดปกติในเรื่องของสัญญา ทั้งการใช้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ยกเลิกสัญญาไป แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงโอนงบประมาณของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปจัดซื้อเองจากเดิมที่วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่กลับสูงไปกว่า 2,000 ล้านบาท

อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า โครงการไบโอเมทริกซ์ เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับผู้ต้องหาที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการเข้าออกราชอาณาจักร แต่ในเมื่อเครื่องมือใช้การไม่ได้ตามสัญญาและเลื่อนส่งมอบงานไปถึง 4 ครั้ง อีกทั้งวงเงินก็เพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดทำให้เห็นว่าต้องยกเลิกโครงการนี้ไป แม้ว่าขณะนี้โครงการจะผ่านแล้วและติดตั้งใช้งานตามสนามบินในหลายจังหวัด แต่ยังมีอีกหลายฟังก์ชั่นที่ไม่สามารถใช้งานได้ รวมทั้งพบว่ามีการสั่งเครื่องมาเพิ่มเติม เพื่อให้กองบัญชาการอีกหลายที่รับเครื่องไว้ใช้แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน

เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าอัจฉริยะ 260 คัน มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ระบุว่า โครงการดังกล่าวถูกอนุมัติงบประมาณเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ก่อนตนเองมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเห็นว่ารถสายตรวจไฟฟ้าอัจฉริยะไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งชาร์จไฟฟ้า ระบบไวไฟในต่างจังหวัด จนสุดท้ายก็นำมาจอดทิ้งไว้หรือก็ใช้เป็นรถนำขบวนแทนซึ่งก็ไม่ตรวจตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งก็ไม่สามารถนำมาเติมน้ำมันได้

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีผู้มีอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามเรียกให้มาพูดคุย และให้ยุติการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่ตนบอกไปว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะตนไม่ใช่ผู้ร้องเรียนต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. และที่ผ่านมาก็พยายามคัดค้านโครงการนี้ไปแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล และหลายคนที่ถูกเรียกให้มาตรวจรับงาน หากไม่มาก็จะถูกสั่งย้ายออกจากตำแหน่งเดิม รวมทั้งพยายามสั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยกับตนเองด้วย

สำหรับเมื่อวานที่ผ่านมา นายษิทรา ในฐานะผู้ร้อง ได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการไปแล้วพร้อมยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมรวม 13 คน โดยมีนายตำรวจระดับนายพล 2 นาย ระดับนายพัน 10 นาย และชั้นประทวน 1 นาย โดยทั้งหมดเป็นตำรวจที่เคยเกี่ยวข้องกับการตรวจรับงานโครงการนี้

กรณีนี้มีผู้ถูกร้องทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง ซึ่งทั้ง 2 คนนี้เกี่ยวข้องในฐานะผู้อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว และ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึง พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ในฐานะเป็นผู้ตรวจรับงานโครงการดังกล่าวและเป็นผู้ขยายสัญญาให้กับเอกชน ซึ่งคดีนี้ ป.ป.ช. จะทยอยเรียกพยานมาให้ข้อมูลทั้งหมด ก่อนที่จะตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนว่าเรื่องนี้มีมูลหรือไม่ ถ้าหากมีมูลก็จะตั้งข้อกล่าวหาและเรียกทั้ง 4 คน มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการในภายหลังต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง